บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)โนมูระ พัฒนสิน ระบุว่า ยังคงให้น้ำหนักการลงทุนกลุ่มธนาคารเพียง Neutral เพราะกลุ่มธนาคารรายงานกำไรไตรมาส 2/63 แค่ 23,000 ล้านบาท ลดลง 47% ซึ่งต่ำกว่าที่คาดถึง 30% จากค่าใช้จ่ายสำรองที่มากขึ้นและคาดการณ์ครึ่งปีหลังธนาคารส่วนใหญ่จะเผชิญปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) มากขึ้น หลังหมดมาตรการช่วยเหลือของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทั้งนี้ธนาคารที่มี downside risk จำกัด คือ BBL, KBANK และ TISCO เพราะจัดชั้นเอ็นพีแอลเข้มงวด และเร่งตั้งสำรองไปล่วงหน้า
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยโนมูระ พัฒนสิน ได้เลือกหุ้นธนาคารที่ดูปลอดภัย เช่นหุ้น BBL โดยแนะนำซื้อ ให้ราคาเป้าหมายกลางปี 2564 ที่ 130 บาทต่อหุ้น และหุ้น TISCO แนะนำซื้อเช่นกัน ให้ราคาเป้าหมายกลางปี 2564 ที่ 80 บาทต่อหุ้น
ขณะที่ ประเด็นที่ต้องจับตาใกล้ชิดคือคุณภาพสินทรัพย์ที่คาดอ่อนแอลงอย่างต่อเนื่องในครึ่งปีหลัง ภายหลังหมดมาตรการช่วยเหลือลุกหนี้ของ ธปท. ซึ่งธนาคารมีลูกหนี้ภายใต้มาตรการดังกล่าวราว 10-40% ดังนั้น มองว่าธนาคารที่มี downside risk ต่ำ คือที่ดำเนินมาตรการในครึ่งปีแรก ดังนี้ เร่งตั้งสำรองสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เช่น BBL, KBANK และ TISCO เพื่อเตรียมรองรับต่อสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน และจัดชั้นลุกหนี้เข้มงวด เพื่อลดความเสี่ยงการตกชั้นเป็นเอ็นพีแอลในอนาคต
สำหรับ BBL รายงาน Gross NPLs ในไตรมาส 2/63 เร่งตัวขึ้น 23% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกปีนี้ เพราะการปรับลูกหนี้ที่มีสัญญาณจะเป็น NPLs ให้ตกชั้นเป็น NPLs ทันที และ TISCO ไม่คงสถานะลูกหนี้เป็นลูกหนี้ปกติ ภายหลังปรับโครงสร้าง ซึ่งเข้มงวดกว่ามาตรการ ธปท.
ทั้งนี้ หากพิจารณารายธนาคาร พบว่าเกือบทุกแห่งรายงานกำไรหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนและเทียบกับไตรมาสแรกปีนี้ นำโดย KBANK กำไรไตรมาส 2/63 ลดลง 78% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และลดลง 71% เทียบกับไตรมาสแรกปีนี้ ด้าน BBL กำไรลดลง 67% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนและลดลง 60% เทียบกับไตรมาสแรกปีนี้ อย่างไรก็ตามทั้ง 2 ธนาคารได้ตั้งสำรองล่วงหน้า เตรียมความพร้อมต่อการตกชั้นเป็นเอ็นพีแอลภายหลังหมดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของธปท.
ส่วน KTB กำไรไตรมาส 2/63 ลดลง 53% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และลดลง 37% จากไตรมาสแรกปีนี้เพราะตั้งสำรองต่อมูลหนี้ของบริษัทการบินไทย จำกัด(มหาชน) (THAI) ด้าน KKP กำไรไตรมาส 2/63 ลดลง 19% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และลดลง 20% จากไตรมาสแรกปีนี้ โดยถูกกดดันจากทั้งค่าใช้จ่ายสำรอง และขาดทุนรถยืดเพิ่มขึ้นตามความผันผวนของตลาดรถมือสอง
ขณะเดียวกัน SCB ไตรมาส 2/63 กำไรลดลง 24% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และลดลง 10% จากไตรมาสแรกปีนี้ นับเป็นธนาคารที่รายงานกำไรดีกว่าที่ฝ่ายวิจัยและตลาดคาด เพราะมีกำไรพิเศษจากการขายพอร์ตสินเชื่อไม่มีหลักประกัน ด้าน TMB ไตรมาส 2/63 กำไรเพิ่มขึ้น 61% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ลดลง 26% จากไตรมาสแรก ที่กำไรเพิ่มขึ้น เพราะอานิสงส์จากการควบรวมกับ TBANK