สรรพากร ลดภาษีหัก ณ ที่จ่าย เหลือ 2% ดีเดย์ 1 ต.ค.63

03 ส.ค. 2563 | 11:00 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ส.ค. 2563 | 11:23 น.

สรรพากร ลดภาษีหัก ณ ที่จ่ายเหลือ 2% กรณีหักผ่าน e-Withholding tax ดีเดย์ 1 ต.ค.63-31 ธ.ค. 64 คาดมีเงินเหลือ 10,800 ล้านบาท หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ เปิดทางแบงก์เป็นผู้ให้บริการในขั้นตอนเดียว เชื่อลดต้นทุน ลดเวลา สร้างประโยชน์ให้ผู้เสียภาษีมากขึ้น

ภายใต้ยุทธศาสตร์ 9 Digital Transformation ของกรมสรรพากร ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดเก็บภาษี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและการชำระภาษีของคนไทยให้ดีขึ้น นอกจาก e-Donation e-Tax invoice และ e-Stamp แล้ว e-Withholding tax หรือการนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ จะเป็นนวัตกรรมล่าสุดที่กำลังจะเกิดขึ้น ด้วยการให้ธนาคารพาณิชย์มาเป็นตัวกลางในการนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายต่อกรมสรรพากร

 

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดี กรมสรรพากรเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า  e-Withholding tax จะเป็นนวัตกรรมที่จะมา Transform ประเทศไทยได้ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการเชื่อมโยงระบบหลังบ้านกับธนาคารพาณิชย์ที่ต้องการเข้ามาเป็นตัวกลางในการหักภาษี ณ ที่จ่ายหลังจากเปิดรับสมัครมาตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2563  และตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ผู้ที่ถูกหัก ภาษี ณ ที่จ่าย ผ่านระบบ e-Withholding tax จะได้รับการลดอัตราภาษีจาก 3% เป็น 2% ซึ่งจะทำให้ผู้ที่ถูกหักภาษี หรือผู้รับเงินมีสภาพคล่องรองรับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ได้

 

“หากคิดอัตราภาษี หัก ณ ที่จ่ายเป็นอัตราปรับลดเหลือ 2% นั้น จะเป็นเนื้อภาษีประมาณ 54,000 ล้านบาท แต่เบื้องต้นคาดว่า จะมีคนเข้าร่วมประมาณ 20% หรือจะมีเม็ดเงินเหลือในกระเป๋าประมาณ 10,800 ล้านบาท ที่จะเป็นสภาพคล่องหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ”

 

นายเอกนิติกล่าวต่อว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ เพราะเพิ่งออกประกาศอธิบดีไปเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2563 ในการปรับลดอัตราภาษี หัก ณ ที่จ่ายเหลือ 2% เพื่อสนับสนุนการยื่นแบบผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หลังจากที่ได้เปิดรับสมัครสถาบันการเงินที่สนใจเป็นผู้ให้บริการ e-Withholding tax ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา เพื่อให้สถาบันการเงินเป็นตัวแทนในการรับนำส่งข้อมูลและเงินภาษี หัก ณ ที่จ่าย ต่อกรมสรรพากร ซึ่งจะทำให้เกิดความสะดวกสำหรับผู้เสียภาษีมากขึ้น เพราะลดขั้นตอนการดำเนินการ รวมถึงต้นทุนในการทำหนังสือภาษีหัก ณ ที่จ่ายด้วย

 

สรรพากร ลดภาษีหัก ณ ที่จ่าย เหลือ 2%  ดีเดย์ 1 ต.ค.63

ทั้งนี้กรมสรรพากรเชื่อว่า จะสามารถอำนวยความสะดวกให้กับผู้เสียภาษีได้มากขึ้น เพราะขั้นตอนการดำเนินการจะมีเพียงขั้นตอนเดียว เพียงผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย (ผู้จ่ายเงินหรือนายจ้าง) ส่งข้อมูลการหักภาษี ณ ที่จ่ายของผู้รับเงินพร้อมโอนเงินไปยังธนาคารผู้ให้บริการ เพื่อนำส่งกรมสรรพากรต่อไป 

 

ขั้นตอนดังกล่าวจะยุ่งยากน้อยกว่าระบบการหักภาษี ณ ที่จ่ายในปัจจุบัน ที่ผู้หักภาษีต้องจัดทำหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้ผู้รับเงินและจัดเก็บหลักฐานไว้ โดยทุกๆ เดือนจะต้องรวบรวมข้อมูลการหักภาษีดังกล่าวเพื่อยื่นแบบแสดงรายการและนำส่งเงินภาษี และทุกๆ ปีจะต้องจัดทำแบบสรุปภาษีหัก ณ ที่จ่ายประจำปีเพื่อยื่นต่อกรมสรรพากร ส่วนผู้เสียภาษีจะต้องเก็บหลักฐานต่างๆ ไว้เพื่อยื่นแบบแสดงรายการประจำปี

 

“ที่ผ่านมา เราพยายามทำให้ผู้เสียภาษีเข้าถึงกรมสรรพากรได้ง่าย ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ ซึ่งเชื่อว่าการให้บริการ e-withholding tax ผ่านสถาบันการเงิน จะทำให้ผู้เสียภาษีสะดวกและง่ายต่อการชำระภาษีมากขึ้น ไม่ต้องเก็บรวบรวมเอกสาร และหากคนที่เข้าร่วม ก็ไม่ต้องไปรอปลายปีที่มีการยื่นแบบว่า สรุปทั้งปีแล้ว จะเสียภาษีน้อยลงหรือได้รับเงินภาษีคืน เพราะจะถูกหัก ภาษีน้อยลงทันที จะทำให้มีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้น ช่วยบรรเทาผลกระทบจากโควิดในช่วงนี้ได้” 

สรรพากร ลดภาษีหัก ณ ที่จ่าย เหลือ 2%  ดีเดย์ 1 ต.ค.63

สำหรับรายละเอียดของประกาศอธิบดี กรมสรรพากร ฉบับที่ 20 เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาในการนำส่งเงินภาษีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากรได้ระบุว่า ให้ธนาคารพาณิชย์สามารถเป็นผู้ให้บริการนำส่งข้อมูลและเงินภาษี ยื่นคำขอผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร เพื่อรับเงินภาษีจากประชาชนและผู้ประกอบการแทนกรมสรรพากรได้

 

โดยธนาคารจะนำส่งข้อมูลดังกล่าวให้กับกรมสรรพากรเอง ซึ่งจะดำเนินการนำส่งข้อมูลต่างๆ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้กับกรมสรรพากรภายใน 4 วันทำการ แต่หากต้องการข้อมูลเพิ่ม ธนาคารจะให้ผู้เสียภาษีเข้ามาแสดงรายการเพิ่ม จากนั้นจะนำส่งข้อมูลเพิ่มเติมดังกล่าวไปยังสรรพากรภายใน 1 วันทำการ

 

ทั้งนี้ ธนาคารจะต้องรักษามาตรฐานของระบบการนำส่งรายการและการเสียภาษีดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกรมสรรพากรจะประเมินระบบทุกๆ 2 ปี เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุดต่อผู้เสียภาษี โดยหากธนาคารไม่นำส่งหรือนำส่งเงินภาษีของผู้เสียภาษีไม่ครบถ้วน ธนาคารจะต้องรับผิดชอบและนำส่งเงินดังกล่าวพร้อมอัตราดอกเบี้ย 15% ให้กับกรมสรรพากรด้วย

 

ขณะที่ประชาชนและผู้ประกอบการที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ สามารถเลือกวิธีการนำส่งภาษีเงินได้ดังกล่าวผ่านธนาคารพาณิชย์ได้ เพียงลูกค้าแจ้งข้อมูลเลขบัตรประจำตัวประชาชน เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร จำนวนเงินภาษีที่หักและนำส่ง และเมื่อนำส่งภาษีดังกล่าวแล้ว จะได้รับหลักฐานยืนยันการชำระภาษี พร้อมรับ SMS แจ้งด้วย

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3597 วันที่ 2-5 สิงหาคม 2563