ความวิตกกังวลทางการเมืองและเศรษฐกิจ ทำให้มีเแรงซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ส่งผลให้ราคาทองคำเดือนกรกฎาคม ปิดตลาดด้วยการพุ่งขึ้นเกือบ 11% ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นในรายเดือนที่มากที่สุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2559 หลังจากที่สหรัฐเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ไตรมาส 2 หดตัวรุนแรงที่สุดในรอบกว่า 70 ปี และทองคำยังพุ่งขึ้นไปทดสอบระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่บริเวณ 1,987.95 ดอลลาร์ต่ออนซ์ระหว่างการซื้อขายเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม จากความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐ หลังจากประธานาธิบดีทรัมป์ขู่จะแบนแอป “TikTok” ของจีน
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาตั้งแต่สิ้นปี 2562 จนถึง 4 สิงหาคม 2563 ราคาทองคำในตลาด Spot เพิ่มขึ้น 454.8 ดอลลาร์ต่ออนซ์ หรือเพิ่มขึ้น 30% ขณะที่ราคาทองคำแท่งเพิ่มขึ้น 7,550 บาท/บาททองคำ หรือ 35.12%และราคาทองคำรูปพรรณเพิ่มขึ้น 7,550 บาท/ลาททองคำหรือ 34.3%
ส่วนแนวโน้มทองคำจะมีทั้งปัจจัยหนุนและรั้งราคาทองคำในช่วงที่เหลือไปจนถึงปี 2564 ต่อประเด็นดังกล่าวนายจิตติ ตั้งสิทธิภักดี นายกสมาคมค้าทองคำเปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า แนวโน้มราคาทองคำ(Gold Spot) ยากต่อคาดเดาว่า จะผ่าน 1,975 ดอลลาร์/ออนซ์หรือไม่ โดยที่ผ่านมาราคาทองคำปรับเพิ่มสูงสุดเป็นประวัติการณ์แล้วที่ระดับราคา 1,980 ดอลลาร์/ออนซ์ ในส่วนของทองคำแท่งในประ เทศไทยปรับเพิ่มขึ้นมาแล้วกว่า 6,000-7,000 บาท ส่วนทองคำรูปพรรณต้องบวกค่ากำเหน็ดด้วย
ในแง่การลงทุนนั้น แนะนำให้รอราคาทองคำปรับลดลงในระยะสั้นและอย่าเก็บระยะยาว เพราะราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้นมากแล้ว จึงมีความเสี่ยงในระยะข้างหน้า ซึ่งช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ร้านค้าทองคำยังคงรับซื้อทองเข้ามาเป็นปริมาณสูงสุดในรอบ 8 ปี แต่ยืนยันว่า ร้านค้าทองคำไม่มีปัญหาสภาพคล่อง นอกจากนี้ช่วงที่เหลือยังมีปัจจัยที่จะมีผลต่อราคาทองคำหลากหลายทั้งเหตุการณ์รอบโลกและการระบาดของโควิด สงครามทางการค้า รวมทั้งเหตุการณ์ตึงเครียดในหลายประเทศ
นายธนรัชต์ พสุวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ฮั่วเซ่งเฮงกล่าวว่า แนวโน้มราคาทองคำในประเทศยังขึ้นอยู่กับการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท หากเงินบาทแข็งค่า จะดึงราคาทองคำในประเทศลง และปัจจัยฟิทช์ เรตติ้งส์ ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐลงมาอยู่ในเชิงลบ จากเดิมที่มีเสถียรภาพ (AAA) ทำให้แนวต้านราคาทองคำที่ 1,982 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งถ้านักลงทุนจะกลับเข้าไปซื้อรอบใหม่ก็ต้องรอแนวรับที่ระดับราคาประมาณ 1,940ดอลลาร์/ออนซ์
ข่าวเกี่ยวข้อง
"ราคาทอง" ไปต่อ หรือต้องเริ่มระวัง
นายประสงค์ พันธ์ลิมา ผู้อำนวยการ สถานธนานุเคราะห์ (สธค.) หรือโรงรับจำนำ ในสังกัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ราคาทองคำที่เพิ่มขึ้นลูกค้าไถ่ถอนไปขายเป็นจำนวนเงินค่อนข้างมาก เห็นได้จากเดือนมกราคม 2563 ยอดเงินรับจำนำทองคำ 4,794 ล้านบาทเทียบสิ้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มียอดรับจำนำเหลือ 4,299 ล้านบาท ซึ่งยอดเงินรับจำนำที่หายไป 495 ล้านบาท เพราะลูกค้าไถ่ถอนทองคำออกมากกว่าจะนำทองคำมาจำนำ ขณะเดียวกันทางสธค.ก็เร่งระบายทองคำหลุดจำนำในช่วงราคาทองคำปรับเพิ่มด้วย
ส่วนราคารับจำนำสธค.ปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ ทองคำบริสุทธิ 99.99% ทองคำ96.5% โดยปรับเพิ่มราคารับจำนำเป็น 23,500 บาทต่อบาททองคำ และ 22,500 บาทตามลำดับ จากต้นปีทั้งสองประเภทราคารับจำนำอยู่ที่ 19,000บาทต่อบาททองคำ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"ราคาทอง" ทะลุ 2,000 ดอลลาร์/ออนซ์ ครั้งแรกในประวัติศาสตร์
ดาวโจนส์ ปิดพุ่ง 373.05 จุด ขานรับปัจจัยบวกเศรษฐกิจ
ส่วนแนวโน้มราคาทองคำ(Gold Spot) ทีมงานพิเศษของสธค.อยู่ระหว่างติดตามสถานการณ์ เบื้องต้นคาดว่า ราคาทองคำน่าจะอิ่มตัวใน 2เดือนและปรับลดลงจากต้นปีที่เพิ่มขึ้นมาแตะ 1,983ดอลลาร์/ออนซ์แล้ว และแนวโน้มราคาไม่น่าจะเกิน 2,000 ดอลลาร์/ออนซ์ ที่ผ่านมาช่วง 8-9 ปีนับจากปี 2554 นั้น ราคาทองเพิ่มสูงสุด จากนั้น 2-3 ปีให้หลัง ราคารูดลงและเพิ่งจะไต่ระดับอีกครั้งเมื่อปลายปี2562 และปรับเพิ่มขึ้นชัดเจนในปี 2563 และทีมงานยังติดตามราคาทองคำ โดยเฉพาะตลาดทองคำ COMEX และสงครามการค้า เพื่ออัพเดตราคารายวันและประชุมทุกวันจันทร์ พุธ ศุกร์ เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์และปรับลดวงเงินรับจำนำได้ทันท่วงที
“ตอนนี้สธค.เรามีสภาพคล่องส่วนเกินมาก ส่วนหนึ่งจากลูกค้าไถ่ถอนทองคำออกไปขายทำกำไร โดยเฉพาะไตรมาส 3 ทำให้ทองคำหลุดจำนำน้อยลง และส่วนหนึ่งเรากู้แบงก์มา เพื่อสำรองไว้รับจำนำ แต่ปรากฎยอดรับจำนำทองลดลงเยอะมาก”
ด้านนายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์(SCBS)ระบุว่า มีโอกาสเห็นราคาทองคำปรับเพิ่ม 5-7% ในสิ้นปี2563 จากระดับ 1,977 ดอลลาร์/ออนซ์เป็น 2,100 ดอลลาร์/ออนซ์ ถัดไปในปี 2564 ขึ้นกับปัจจัยความเสี่ยงด้านเครดิตหรือตลาดหุ้น และดอลลาร์อ่อนค่า อาจบรรเทาลง ถ้าเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว ประกอบกับใกล้ช่วงเวลาที่ผลทดสอบวัคซีนจะถูกนำออกมาใช้ และบริษัทต่างๆน่าจะเริ่มฟื้นตัวมีรายได้กลับมา
“ปัจจัยเหล่านี้ ทำให้คนกล้าที่จะรับความเสี่ยงด้านเครดิต แต่ราคาทองคำมีโอกาสกลับทิศ อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์บนพื้นฐานเศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ยนั้น ราคาทองคำควรจะอยู่ที่ระดับ 1,500-1,600ดอลลาร์/ออนซ์เท่านั้น”
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 3,598 วันที่ 6 - 8 สิงหาคม พ.ศ. 2563