ท่ามกลาง ทิศทางดอกทิเบี้ยขาลง ผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารประเภทต่างๆ อยู่ในระดับตํ่าเตี้ยเรี่ยดิน สำหรับคนที่รับความเสี่ยงได้ตํ่า มองไปทางไหน ก็เห็นแต่ช่องทางการลงทุนปิดหรือ ทางเลือกในการออมที่ลดลงเรื่อยๆ “วีระพล บดีรัฐ” ผู้อำนวยการ ฝ่ายพัฒนาการให้คำที่ปรึกษาลูกค้า ธนาคารกสิกรไทย หนึ่งในทีมงาน สำหรับ คนมีวินัยการออม จะมีคำแนะนำดีๆ มาเล่าสู่กันฟัง
วีรพล” บอกว่า สัดส่วนการออม ของคนไทยขณะนี้ ปรับลดลงต่อเนื่อง สาเหตุมาจากการบริโภคเป็นส่วนใหญ่ เพราะคนไทยส่วนหนึ่งสามารถเข้าถึงบริการและสินค้า รวมถึงความสามารถใน การเข้าถึงแหล่งให้กู้ยืม มากขึ้น จากเทคโนโลยีที่พัฒนาการขึ้น ทำให้คนเป็นหนี้ง่ายขึ้นด้วย
การก่อหนี้ที่ไม่มีความเข้าใจ สุดท้ายจะนำมาซึ่งปัญหาการออม หากพิจารณาจาก หนี้ครัวเรือน แม้จะขยับขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่แนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเป็นระยะๆ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่ชัดเจนจะจบลงเมื่อไหร่ ถ้ามีหนี้เพิ่ม ขณะที่รายได้มีแนวโน้มลดลง จึงเป็นประเด็นที่่น่ากังวล เพราะเรื่องนี้ไม่ได้เป็นเรื่องระยะสั้น แต่เป็นเรื่องระยะยาว ที่ต้องอยู่แบบนี้ไปอีกระยะ จึงควรคิดถึงเรื่องการสำรองเงิน
ส่วนสัดส่วนการออม ที่เหมาะสมควรอยู่ที่เท่าไรนั้น ที่ผ่านมา นักวางแผนทางการเงินมักแนะนำให้สำรองเงินไว้ประมาณ 6 เดือน แต่ตอนนี้มีโอกาสจะตกงานนานกว่านั้น หรืออาจจะเกิดสภาวะที่รายได้จะไม่เข้ามานานกว่า 6 เดือน จากภาพสะท้อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ดังนั้นขอให้มีสำรองที่ 12 เดือนของรายจ่ายประจำ
“สมมติคนโสด อยู่ในกรุงเทพ มีรายจ่ายต่อเดือน 20,000 บาท จะต้องสำรองเงินเท่ากับ 20,000 คูณ 12 เดือน โดยต้องมีเงินสำรอง 240,000 บาทเป็นอย่างน้อย เพื่อที่ช่วงไม่มีรายได้ แต่ยังสามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องขอรับเงินช่วยเหลือจากรัฐ
เมื่อมีเงินสำรองไว้เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปแนะนำให้เริ่มออมที่ประมาณ 20%ของรายได้ต่อเดือน โดยเป็นตัวเลขอ้างอิงจาก Central
Provident Fund ของสิงคโปร์ ซึ่งคล้ายกับกองทุนประกันสังคมเมืองไทย ซึ่ง สิงคโปร์บังคับให้คนกันเงินสมทบส่วนลูกจ้างที่อายุไม่ถึง 55 ปีไว้ที่ 20%ของรายได้ต่อเดือน โดยฝ่ายนายจ้างจ่ายสมทบอีก 17% ซึ่งเงินที่เหลือน่าจะเพียงพอให้คนอยู่ได้ในช่วงที่เหลือถึงอายุ 80ปี
หากเป็นทีม K Expert ตัวเลขที่ 20%นั้นมาจากเงินคงเหลือที่ ควรจะมีตอนเกษียณอายุ ไม่ว่าจะมีรายได้เท่าไร ถ้าต้องการใช้เงิน 15,000 บาทต่อเดือน เมื่อเกษียณอายุ 60 ปีคิดว่า จะมีชีวิตอยู่ได้ถึง 80ปีเงินที่ต้องใช้ ควรจะมีอยู่กับตัวจำนวน 3.7 ล้านบาทหรือ 4 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้เป็นตัวเลขค่ากลางที่ยังไม่รวมค่ารักษาพยาบาล ถ้าต้องการใช้เงินมากกว่านี้จะต้องไปคิดออมเพิ่ม
สำหรับคนเรียนจบทำงานอายุ 23 ปี เริ่มเก็บเงินประมาณ 3,000 บาทต่อเดือน โดยทำแบบนี้ไปต่อเนื่องทุกปี ก็สามารถที่จะมีเงินอยู่กับตัวในวันเกษียณที่จำนวน 4 ล้านบาทได้ ฉะนั้นหากคนทำงานแล้วจะออมประมาณ 20% ของรายได้ต่อเดือน ก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะ Save สำหรับช่วงเริ่มต้น
ถัดมาต้องดูเรื่องภาระหนี้ต่อเดือนควบคู่ด้วย ถ้าเงินเดือน 20,000 บาทต่อเดือน ยอดหนี้ที่ต้องผ่อนชำระไม่ควรจะเกิน 40%ของรายได้ หรือเท่ากับ 8,000 บาทต่อเดือน ซึ่งแม้ว่าสถาบันการเงินจะเปิดช่องให้วงเงินกู้ 40-50% ของรายได้ แต่คนเราไม่จำเป็นต้องผ่อนจนเต็มเพดานเท่ากับที่สถาบันการเงินยอมปล่อยกู้ ถามว่าอีก 10%ที่เหลือเพื่ออะไรก็ต้องเหลือไว้เพื่อฉุกเฉิน เพราะหากเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้ใช้สิทธิขอกู้เพิ่ม เพราะไม่เช่นนั้นก็ต้องกู้นอกระบบ
“ผมแนะนำเป็นกลางๆ คือ ควรออมเงินให้ได้ 20% และมีภาระหนี้ผ่อนชำระ 40% ต่อเดือน ที่เหลืออีก 40% เป็นค่าใช้จ่ายรายวัน เพราะฉะนั้น ถ้าใครจัดสรรเงินออมและหนี้ผ่อนชำระได้แล้วมีเงินเหลือใช้จ่ายอีก 40% ต่อเดือน ชีวิตก็จะมีโอกาสหรือมีทางเลือกมากกว่าคนอื่นๆ ซึ่งทางเลือกที่ว่า คือ ทางเลือกที่จะนำเงินไปลงทุนเพื่อให้ผลตอบแทนงอกเงยแทนที่จะเก็บเงินไปจนเกษียณ หรือทางเลือกที่จะช่วยเหลือคนรอบตัว และทางเลือกที่จะทำงานหรือประกอบธุรกิจ เพราะทางเลือกนี้เกิดจากวินัยการออม”
หากแต่ในมุมมอง “ทางเลือกที่มากกว่า” สำหรับคนรับความเสี่ยงได้ตํ่า ควรจะหาทางเลือกเพื่อลงทุนมากกว่าจะลงทุนในเงินฝาก โดยสามารถกระจายเงินฝากจากบางส่วนลงทุนในกองทุนผสมหรือตลาดหุ้น หรือการลงทุนในประกัน
หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,604 วันที่ 27 - 29 สิงหาคม พ.ศ. 2563