วิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ตั้งแต่รากหญ้าไปจนถึงรายใหญ่ ทำให้ “กลุ่มบริหารหนี้” ถูกจับตามองที่จะใช้จังหวะเข้าซื้อหนี้มาบริหาร โดยตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม-31 สิงหาคม 2563 หุ้น 3 บริษัท คือ บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (BAM), บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (CHAYO) และ บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) (JMT) ปรับเพิ่มขึ้นทั้งหมด
ซึ่ง BAM เป็นหุ้นที่มีความน่าสนใจมากที่สุด จากการเน้นซื้อหุ้นที่มีหลักประกันเข้าพอร์ต และมีความเสี่ยงน้อยสุด
บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ตลาดอาจผิดหวังต่อกำไรงวดไตรมาส 2 ปี 2563 ของ BAM ที่ออกมาตํ่ากว่าที่ประเมินไว้ที่ -79% ส่วนตลาดประเมินที่ -81% ด้วยกำไรสุทธิครึ่งปีแรกอยู่ที่ 834 ล้านบาท ทำให้มีความกังวลต่อการจ่ายปันผลมากขึ้น แต่มองว่ากระแสเงินสดของบริษัทยังแข็งแรง
และการทยอยบันทึกกำไรพิเศษ DTA ได้ในช่วงที่เหลือของปี จะช่วยปรับปรุงกำไรสุทธิและกลับมาจ่ายปันผลในระดับที่คาดหวังได้ แม้ BAM อยู่ในกลุ่มบริหารหนี้เช่นเดียวกับ JMT-CHAYO แต่ผลประกอบการมีความผันผวนของกำไรระดับไตรมาสสูงกว่าจากขั้นตอนการคัดขายทรัพย์ฯ และการบันทึกบัญชี จึงปรับเพิ่มส่วนลดของอัตราเงินปันผล (DDM) เท่ากับ 4.4%
ด้านบล.ทิสโก้ จำกัด ระบว่า BAM รายงานผลประกอบการไตรมาส 2 อ่อนแอที่ 136 ล้านบาท ลดลง 82% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 81% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยผลประกอบการอ่อนแอลงในเชิงของเงินสดจากเอ็นพีแอลที่ฟื้นตัวขึ้นจากทั้งดอกเบี้ยรับ 132 ล้านบาท จากเดิม 202 ล้านบาทและกำไร จากการซื้อที่ดิน 755 ล้านบาท จากเดิม 1,580 ล้านบาท แต่การดำเนินงานยังดีอยู่จากการขาย NPA เพิ่มขึ้นเป็น 434 ล้านบาท จากเดิมที่ 226 ล้านบาท
นอกจากนี้ แนวโน้มผลประกอบการในช่วงครึ่งปีหลัง การขาย NPA จะเพิ่มขึ้นจากการชำระคืนเงินจากเอ็นพีแอลที่ 2,000 ล้านบาท, การกลับมาดำเนินงานของกรมบังคับคดี ที่มีมูลค่าการประมูลเพิ่มขึ้น 141% ในเดือนมิถุนายน และกระแสตอบรับที่ดีของช่องทางออนไลน์ ทั้งนี้มองว่า เป็นโอกาสในการซื้อจากการฟื้นตัวของการดำเนินงานในอนาคต
รวมถึงการขาย NPA จะเป็นปัจจัยหนุนผลประกอบการหลังกลับมาประมูลได้อีกครั้ง และการออกตราสารหนี้ 25,000 ล้านบาท หรือ 29% ของเอ็นพีแอล จะเป็นปัจจัยบวกต่อการดำเนินงานในอนาคตชดเชย DTA ที่ลดลง
ด้านนางทองอุไร ลิ้มปิติ ประธานกรรมการ BAM เปิดเผยว่า สถาบันไทยพัฒน์ ประกาศให้ BAM ติดอันดับบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมา ภิบาล กลุ่ม ESG Emerging ปี 2563 ซึ่งเป็นปีแรกของการประเมินเพื่อจัดทำ “ทำเนียบกลุ่มบริษัทวิถียั่งยืนที่น่าลงทุน” หรือ “ESG Emerging List” ด้วยการคัดเลือกจาก 803 บริษัท/กองทุน/ทรัสต์เพื่อการลงทุน ทำการประเมินโดยใช้ข้อมูลที่เกี่ยวกับ ESG 6แหล่ง กว่า 14,870 จุดข้อมูล
นายสมพร มูลศรีแก้ว กรรมการผู้จัดการใหญ่ BAM กล่าวว่า หลังจากที่ BAM เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อเดือนธันวาคม 2562 ก็ได้รับคัดเลือกให้อยู่ในกลุ่มหลักทรัพย์ ESG Emerging ตั้งแต่ปีแรกของการประเมินสะท้อนว่า บริษัทดำเนินธุรกิจ โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และยังคำนึงถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กรและสังคมคู่ไปพร้อมกัน
ทั้งนี้ การจัดอันดับพิจารณาข้อมูลจากการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) และผลประกอบการของบริษัทควบ คู่กันในกระบวนการประเมิน โดยสถาบันไทยพัฒน์เป็นผู้ริ เริ่มพัฒนาข้อมูลด้านความยั่งยืนของธุรกิจ ได้เปิดเผยรายชื่อหลักทรัพย์จดทะเบียนที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อมสังคม และธรรมาภิบาล ในกลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 เป็นครั้งแรกในปี 2558 และในกลุ่มหลักทรัพย์ ESG Emerging เป็นครั้งแรกในปีนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
หุ้นค้าปลีก-ห้าง-โรงแรมคึกรับมาตรการรัฐ
คลัง ยัน ขึ้น Vat เป็น 9% ซ้ำเติมประชาชน
สสว. ปรับแผนช่วยเอสเอ็มอีใหม่ หลังไร้เงาสมคิด
หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษบกิจ ฉบับที่ 3,606 วันที่ 3 - 5 กันยายน พ.ศ. 2563