ภายหลังหลังจากทีมเศรษฐกิจ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ออกไป โครงการช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ไม่เคยได้รับสินเชื่อกับสถาบันการเงิน และไม่มีสินเชื่อคงค้างกับสถาบันการเงิน วงเงิน 100,000 ล้านบาท ก็หยุดชะงักลง ล่าสุด นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สสว. ระบุว่า ขณะนี้ได้ปรับโครงการใหม่ หลังจากโครงการเดิมสำนักงานกฤษฎีกาตีความแล้วว่าไม่สามารถใช้เงินกู้จากพ.ร.ก. 4 แสนล้านบาทได้ จึงประสานกับสถาบันการเงินของรัฐเข้ามาช่วยเหลือแทนเกือบเต็มจำนวนทั้ง 1 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(เอสเอ็มอีแบงก์) วงเงิน 10,000 ล้านบาท ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(เอ็มซิมแบงก์) วงเงิน 480 ล้านบาท และบรรษัทประกันสินเชื่อขนาดกลางและขนาดย่อม(บสย.) วงเงิน 5,000 ล้านบาท เข้ามาค้ำประกันสินเชื่อให้ผู้ประกอบการ
ขณะเดียวกันยังอยู่ระหว่างหารือกับธนาคารออมสิน ที่จะปล่อยกู้ให้เอสเอ็มอี วงเงินอีก 80,000 ล้านบาท ซึ่งเบื้องต้นมีเอสเอสเอ็มที่เป็นสมาชิกของ สสว. สนใจยื่นขอสินเชื่อกับธนาคารของรัฐแล้ว
ส่วนการช่วยเหลือเอ็สเอ็มอีในรูปแบบอื่นผ่านการใช้งบประมาณปี 2564 คาดว่าจะได้อีกกว่า 1,000 ล้านบาท โดยวางแผนส่งเสริมเอสเอ็มอี ตามระดับความพร้อมของผู้ประกอบการ ที่มีตั้งแต่ขนาดเล็ก(ไมโครเอสเอ็มอี) ขนาด S (ขนาดเล็ก) และขนาดกลาง M ขณะเดียวกันสสว.จะสนับสนุน ให้ผู้ประกอบการเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เนื่องจากงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในแต่ละปีมีวงเงินค่อนข้างสูง โดยในปี 2562 มีมูลค่าตลาดภาครัฐรวมกว่า 1.3 ล้านล้านบาท หากช่วยให้เอสเอ็มอีเข้าถึงโครงการจัดซื้อจัดจ้างได้ 30% จะสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการกว่า 400,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่ามาตรการดังกล่าว จะแล้วเสร็จภายในเดือนก.ย.-ต.ค. นี้