นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน1 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เปิดเผยว่า ธปท.ได้กำกับดูแลและตรวจสอบสถาบันการเงิน(แบงก์ไทย) ให้มีกระบวนการป้องกันความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย รวมถึงการสนับสนุนทางการเงินแก่การแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (AML/CPTF)
ตั้งแต่ขั้นตอนการทำความรู้จักตัวตนลูกค้า (KYC/CDD) การตรวจสอบและการรายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กำหนดอย่างเคร่งครัด โดย ธปท. และ ปปง. ประสานงานกันเพื่อกำกับดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด เมื่อสถาบันการเงินพบธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยตามหลักเกณฑ์ที่ปปง.กำหนด ก็มีหน้าที่ต้องรายงานต่อ ปปง. ซึ่งเรียกว่ารายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย (Suspicious Transaction Report: STR)
“ปปง.จะนำข้อมูลที่สถาบันการเงินรายงานมาวิเคราะห์และตรวจสอบ เพื่อดูว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำที่ผิดกฎหมายหรือไม่ ซึ่งไม่ได้หมายความว่า ทุกธุรกรรมที่ถูกรายงานใน STR จะเป็นธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมายเสมอไป จึงต้องตรวจสอบก่อนที่จะสรุปได้ว่า เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมายหรือไม่”
สำหรับกรณีมีข่าวสถาบันการเงินของไทย 4 แห่ง มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมการโอนเงินที่น่าสงสัย โดยใช้ข้อมูลจากรายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยที่รั่วไหลจากหน่วยงานเครือข่ายปราบปรามอาชญากรรมทางการเงินแห่งสหรัฐอเมริกา (US Financial Crimes Enforcement Network หรือ FinCEN)นั้น ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลที่สถาบันการเงินภายใต้กฎหมายของสหรัฐอเมริกามีหน้าที่ต้องรายงานธุรกรรมที่น่าสงสัยต่อ FinCEN เป็นปกติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดอยู่แล้ว และไม่ได้หมายความว่าธุรกรรมที่ถูกรายงานจะเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมายเสมอไป
อย่างไรก็ตาม ข้อกล่าวหาที่เป็นข่าวอยู่นั้น ไม่ได้มาจาก FinCEN หรือหน่วยงานทางการใดๆ เรื่องนี้ จึงขอให้รอการตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“ธสน.” ยันไม่พบรายการต้องห้ามธุรกรรมโอนเงินต้องสงสัย
ปปง.ลุยหาข้อเท็จจริง FinCen ระบุ 4แบงก์ไทยทำธุรกรรมโอนเงินน่าสงสัย
เอกสารลับ FinCen แฉ 4 แบงก์ไทย ปล่อยโอนเงินผิดกฎหมายกว่า 1.2 พันล้าน
เอกสารลับ FinCen แฉธนาคารยักษ์ ปล่อยอาชญากรโอนเงินสกปรกกว่า 2 ล้านล้านดอลล์