นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผย ผลการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสม ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2563 มีจำนวน 160,498 ล้านบาท หรือคิดเป็น 82% ของแผนการเบิกจ่ายสะสมและในกรณีที่ไม่รวมโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่ดำเนินการล่าช้ามาอย่างต่อเนื่องจะทำให้ในภาพรวมรัฐวิสาหกิจมีผลการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมคิดเป็น 95% ของแผนการเบิกจ่ายสะสม
ส่วนผลการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมของรัฐวิสาหกิจ 44 แห่ง แบ่งเป็นการเบิกจ่ายของรัฐวิสาหกิจปีงบประมาณ 34 แห่ง จำนวน 84,792 ล้านบาท หรือคิดเป็น 69% ของแผนการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสม 11 เดือน (ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 – สิงหาคม 2563) และการเบิกจ่ายของรัฐวิสาหกิจปีปฏิทิน 10 แห่ง จำนวน 75,706 ล้านบาท หรือคิดเป็น 104% ของแผนการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสม 8 เดือน (ตั้งแต่เดือนมกราคม – สิงหาคม 2563)
นอกจากนี้ ในกรณีที่ไม่รวมโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่ติดประเด็นทางเทคนิคและดำเนินการล่าช้ามาอย่างต่อเนื่อง 3 โครงการ ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน ระยะที่ 1 ของการรถไฟแห่งประเทศไทย , โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกตะวันตก ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย จะทำให้การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจปีงบประมาณคิดเป็น 87% ของแผนการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสม
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจทั้งปีงบประมาณและปีปฏิทินส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในระดับที่ดีมาก โดยมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่สามารถเบิกจ่ายได้เกินกว่าเป้าหมาย เช่น โครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าภาคใต้ตอนล่างและภาคตะวันตกของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม – มีนบุรี และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย
สำหรับงบลงทุนปี 2564 ที่กำลังจะเริ่มในเดือนตุลาคมนี้ สคร. ได้เตรียมความพร้อมในการติดตามการเบิกจ่ายงบลงทุนปี 2564 อย่างใกล้ชิด โดยให้ความสำคัญกับการเร่งรัดโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศและจะกำกับดูแลให้การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจมีความสอดคล้องกับมาตรการการบริหารเศรษฐกิจในระยะปานกลางและระยะยาวของศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) ต่อไป