ต่างชาติขนเงินกลับกดค่าเงินบาทอ่อน

04 ต.ค. 2563 | 02:55 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ต.ค. 2563 | 10:00 น.

9 เดือน เงินไหลออกกว่า 3.45 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 200% จากทั้งปีก่อน ขณะที่ "อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท" อ่อนค่า 5.1% รองจากรูเปียห์ ที่อ่อนลงถึง 6.7% ผล 2ปัจจัยชั่วคราว “การเมืองใน-ต่างประเทศ” ฉุดเงินบาทแกว่งตัวช่วงต.ค-ต้นพ.ย. ชี้ทิศทางแข็งค่าเหตุเกินดุลการค้าเป็นปัจจัยหนุน

นับจากต้นปี อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทอ่อนค่าลงแล้วราว 5% เป็นอันดับสองรองจากสกุลเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซียที่อ่อนค่าลง 6.7% และกรอบการเคลื่อนไหวค่อนข้างผันผวนในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา  โดยเงินบาทอ่อนค่าลงมากในช่วงไตรมาส 1/63 ท่ามกลางแรงกดดันจากกระแสเงินทุนไหลออก ซึ่งมีแรงกระตุ้นจากความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งในเวลานั้น เริ่มมีรายงานการติดเชื้อนอกประเทศจีน 

 

อย่างไรก็ดี เงินบาทฟื้นตัวแข็งค่ากลับมาได้บางส่วนในช่วงไตรมาส 2/63 โดยมีแรงหนุนจาก 3 เรื่องสำคัญคือ 1.แรงขายเงินดอลลาร์ฯ หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ลดดอกเบี้ยลงมาที่กรอบตํ่าใกล้ศูนย์ และส่งสัญญาณพร้อมผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างมาก 2.การเกินดุลการค้าของไทย โดยเฉพาะดุลทองคำ ซึ่งในเวลานั้นราคาทองคำในตลาดโลกทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่อง และ 3. การปรับสถานการณ์ลงทุนในต่างประเทศของกลุ่มกองทุนและนักลงทุนไทย ทำให้มีกระแสเงินทุนไหลเข้า 

 

ขณะที่ไตรมาส 3/63 เงินบาทเคลื่อนไหวเป็นกรอบ Sideway โดยปรับตัวอยู่ในช่วงประมาณ 30.90-31.85 บาทต่อดอลลาร์ฯ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของหลายๆ ปัจจัยทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะการเลือกตั้งในสหรัฐฯ

 

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัยกลุ่มงานวิจัย บริษัทศูนย์วิจัย กสิกรไทยเปิดเผยว่า แนวโน้มเงินทุนเคลื่อนย้ายปีนี้ มีความผันผวนมากตามสถานการณ์ความไม่แน่นอนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดย 9 เดือน (จากต้นปีถึง 1 ตุลาคม 2563) นักลงทุนต่างชาติมีสถานะขายสุทธิ ทั้งตลาดหุ้นและพันธบัตรไทยที่ 277,793 ล้านบาท และ 67,620 ล้านบาท ตามลำดับเทียบกับทั้งปี 2562 ที่ขายสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตร 45,245 ล้านบาท และ 69,616 ล้านบาท ตามลำดับ

ต่างชาติขนเงินกลับกดค่าเงินบาทอ่อน

ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาท ธนาคาร กสิกรไทยประเมินว่า แนวโน้มแข็งค่าไปที่ 30.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงที่เหลือของปี เนื่องจากเงินดอลลาร์ฯ ยังอยู่ในเทรนด์อ่อนค่า ท่ามกลางความไม่แน่นอนในไตรมาสสุดท้ายของปี ทั้งการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯรวมถึงความกังวลต่อการระบาดรอบสองของโควิด-19 โดยต้องจับตาจุดยืนของเฟดที่น่าจะยังคงส่งสัญญาณผ่อนคลายการดำเนินนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันต้องติดตามปัจจัยการเมืองภายในด้วย เพราะปัจจัยดังกล่าวอาจมีผลกดดันเงินบาทให้เคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่าเป็นระยะ 

 

“การเลือกตั้งในสหรัฐฯ เป็นประเด็นใหญ่ที่จะมีผลต่อตลาดเงินในไตรมาสสุดท้ายของปี” 

 

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทยกล่าวว่า 2 ปัจจัยส่งผลต่อทิศทางการเคลื่อนไหวของเงินบาทในระยะข้างหน้า โดยปัจจัยด้านต่างประเทศขึ้นกับความไม่แน่นอนของการเลือกตั้งสหรัฐ ซึ่งเงินบาทอยู่ในทิศทางผันผวนได้แต่ไม่ว่านายโดนัลด์ ทรัมป์หรือนาย โจ ไบเดนจะได้รับชัยชนะ สหรัฐยังคงดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะช่วงนี้นายโจ ไบเดนได้รับคะแนนนิยมมากกว่า มีโอกาสจะเป็นประธานาธิบดีสูงกว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ แต่ตลาดตอบรับในด้านลบ เพราะนักลงทุนกังวลนโยบายปรับขึ้นภาษีธุรกิจหรือนโยบายที่ไม่สนับสนุนการเติบโตของธุรกิจ

 

ส่วนปัจจัยในประเทศ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจปีหน้ายังไม่สดใส ภาพรวมเศรษฐกิจอาจฟื้นตัวไม่ดีนัก เห็นได้จากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ปรับลดประมาณการเติบโตผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปีหน้ารวมถึงซีไอเอ็มบีไทยด้วย โดยมองผ่านภาคการท่องเที่ยวที่ยังเติบโตช้า การเกินดุลการค้าผ่านการนำเข้าที่หดตัวแรงจากความเชื่อมั่นนักลงทุนที่ย่อลง

 

“เดือนตุลาคมถึงต้นพฤศจิกายนไม่มีสตอรี่ใหม่ ยกเว้นการเมืองต่างประเทศและการเมืองในประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยชั่วคราวจะกดดันการเคลื่อน ไหวเงินบาทแกว่งตัวที่ 31.50-32.00 บาทต่อดอลลาร์ แต่หลังจากปัจจัยต่างประเทศคลี่คลาย เงินบาทจะแข็งค่าได้ด้วยปัจจัยพื้นฐานจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและเกินดุบการค้าที่อยู่ในระดับสูง”

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด(SCBS)กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลกรวมทั้งไทยชะลอตัว ส่วนทิศทางค่าเงินบาทมีโอกาสจะกลับตัวแรงกว่า ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยเชิงพื้นฐาน ทุนสำรองระหว่างประเทศแข็งแกร่งอยู่ในระดับสูง ซึ่งต่างจากหลายประเทศที่ต้องใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศดูแลค่าเงิน เช่น ตุรกี อินโดนีเซีย บราซิล และเม็กซิโก 

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยผันผวนชั่วคราวจากการเมืองในสหรัฐจะคลี่คลายไปเมื่อเลือกตั้งประธานาธิบดี ประกอบกับแนวโน้มที่จะมียาต้านไวรัสกลางปี 2564 จึงมีความหวังว่า จำนวนนักท่องเที่ยวและภาคส่งออกไทยจะกระเตื้องปลายปี 2564

 

“ช่วงที่เหลือ มีปัจจัยบวกมาก กว่าปัจจัยลบ เช่น ยาต้านไวรัส ภาคส่งออกไทยหมวดสินค้ารายการใหญ่เริ่มฟื้นไตรมาส4 ปี64 ขณะที่การดำเนินนโยบายการคลังสหรัฐ จะกดดันสกุลเงินดอลลาร์ให้อ่อนค่าในไตรมาส4 ปีนี้ แต่เมืองไทยจำเป็นต้องเพิ่มความสามารถด้านสาธารณสุขหากยังหวังเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ” 

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,615 วันที่ 4 - 7 ตุลาคม พ.ศ. 2563