นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการประเมินราคาทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ ได้เห็นชอบให้ขยายเวลาการใช้บัญชีราคาประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจำนวน 33 ล้านแปลงทั่วประเทศของปี 2563 ต่อไปอีก 1 ปี โดยมีผลเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค.2564 เพื่อให้ราคาประเมินสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ และช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายประชาชนในช่วงโควิด-19 ตลอดจนสอดรับกับการใช้ พ.ร.บ.การประเมินราคาทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ พ.ศ.2562 ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำกฎหมายลูกเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ รายละเอียดการประเมินราคาทรัพย์สินที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอยู่
“เดิมกรมฯได้จัดทำราคาประเมินที่ดินฯใหม่เสร็จไปแล้วก่อนช่วงเกิดโควิด ซึ่งจะทำให้ราคาที่ดินทั้ง 33 ล้านแปลงทั่วประเทศ ปรับขึ้นเฉลี่ย 8% แต่เนื่องจากในขณะนี้ได้เกิดสถานการณ์ไวรัสโควิดแพร่ระบาด ทำให้ประชาชนและธุรกิจทุกภาคส่วนได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก ดังนั้นที่ประชุมคณะกรรมการประเมินฯ จึงเห็นชอบให้มีการนำบัญชีราคาประเมินที่ดินปีปัจจุบัน ซึ่งประกาศใช้ตั้งแต่รอบปีบัญชี 2559-2563 มาใช้ต่อไปอย่างน้อยอีก 1 ปี เพื่อช่วยบรรเทาลดผลกระทบแก่ประชาชน และภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง”นายยุทธนา กล่าว
ทั้งนี้การนำบัญชีราคาประเมินที่ดินเดิมมาใช้จะช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชนและภาคธุรกิจได้ เพราะตามกฎหมาย จะมีการใช้ราคาประเมินที่ดินของกรมธนารักษ์ มาเป็นฐานในการประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกในทุกๆปี ดังนั้นหากราคาประเมินที่ดินไม่ได้ปรับขึ้น ก็จะทำให้การคำนวณการเสียภาษีไม่ได้เพิ่มขึ้นจากเดิม นอกจากนี้ยังช่วยกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ให้มีการตัดสินใจโอนซื้อขายที่อยู่อาศัยเพิ่ม เพราะในอนาคตหากราคาประเมินที่ดินสูงขึ้น ก็จะทำให้ผู้ซื้อขายที่ดินและบ้าน ต้องเสียค่าธรรมเนียมการโอน หรือการจดจำนองสูงกว่าเดิม
นายยุทธนากล่าวต่อว่า กรมฯจะมีการประเมินราคาที่ดินรอบบัญชีปี 2564-2567 อีกครั้งในปีหน้า โดยจะนำบัญชีเดิมที่มีการประเมินเสร็จไปแล้วเมื่อปี 2562 กลับมาทบทวนใหม่ให้สอดคล้องกับภาวะปัจจุบัน และปรับรูปแบบการประเมินจะให้สอดคล้องกับกฎหมายฉบับใหม่ ด้วยการโอนอำนาจให้คณะกรรมการประเมินราคาทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐประจำจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจัดหวัดเป็นประธาน และธนารักษ์จังหวัดเป็นเลขาธิการ เป็นผู้ประเมินราคาที่ดินภายในจังหวัดของตัวเอง แทนการประเมินจากส่วนกลางซึ่งจะทำให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนขึ้น
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังตอบไม่ได้ว่า ราคาประเมินที่ดินใหม่จะปรับเพิ่มขึ้น ลดลง หรือเท่าเดิม เพราะจะต้องประเมินจากหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ทั้งราคาซื้อขายที่ดินในปัจจุบัน สภาพแปลงที่ดิน ภาวะเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ๆ เช่น ถนน ทางด่วน รถไฟฟ้าใหม่ที่ตัดผ่าน แต่หากปีหน้ามองว่าเศรษฐกิจยังไม่ฟื้น กรมฯก็สามารถประกาศใช้บัญชีราคาประเมินที่ดินเดิมต่อไปอีกได้