ธปท.เล็งออกแพ็กเกจช่วยลูกหนี้และแบงก์

14 ต.ค. 2563 | 08:15 น.

ธนาคารแห่งประเทศไทย จ่อออกแพ็กเกจช่วยลูกหนี้และแบงก์พร้อมตั้ง “Ware Housing” บริหารเอ็นพีแอล

ธนาคารแห่งประเทศไทย เตรียมออกแพ็คเกจอุ้มลูกหนี้และแบงก์-ทั้งพักหนี้และแก้เกณฑ์ซอฟต์โลน หวังเพิ่มประสิทธิภาพให้ตรงจุด หลังธนาคารรายงานข้อมูลพบลูกหนี้ส่วนใหญ่ 60%กลับมาชำระหนี้ต่อได้  ย้ำการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลขึ้นอยู่กับแผนรักษาระดับเงินกองทุนใน3ปีข้างหน้า พร้อมเล็งผ่อนเกณฑ์หนุนเงินไหลออกเฟสแรกปี64


นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงแนวทางการดูแลลูกหนี้ภายหลังครบมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ว่า  ภายหลังจากมาตรการพักชำระหนี้ครบกำหนดในปลายเดือนตุลาคมนี้  ธปท.จะมีแพคเกจเป็นมาตรการดูแลลูกหนี้และธนาคารเพื่อให้สามารถเดินหน้าต่อไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องการพักชำระหนี้ และแก้ไขหลักเกณฑ์สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) 


ทั้งนี้ เพื่อให้มีประสิทธิผลและตรงจุดมากขึ้น  ซึ่งจากข้อมูลที่ได้รับจากสถาบันการเงิน พบว่า ลูกหนี้ที่เข้าโครงการช่วยเหลือส่วนใหญ่เกือบ 60% สามารถกลับมาชำระได้ตามปกติ ส่วนที่เหลืออีก 40% ยังจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือทั้งการยืดหนี้ และปรับโครงสร้างหนี้เป็นเฉพาะราย ซึ่งในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าเอสเอ็มอี  ส่วนรายย่อยนั้นมีมาตรการให้ความช่วยเหลือหลากหลายอยู่แล้ว  


ขณะเดียวกันธปท.ยังมีแนวคิดเรื่องการบริหารสินทรัพย์โดยจัดตั้ง Ware Housingและมาตรการจูงใจ(Incentive)กับธนาคารในการเร่งปรับโครงสร้างหนี้และช่วยเหลือลูกหนี้
 

ต่อข้อถามเรื่องเงินกองทุนสถาบันการเงินนั้น นายเมธี ระบุว่า ธนาคารมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง(BIS)อยู่ในระดับสูงค่อนข้างมาก แม้เกิดการระบาดของโควิดจนต้องมีโครงการพักชำระหนี้ทำให้มีผลต่อเงินกองทุนบ้างแต่ปัจจุบันเงินกองทุนไม่ได้ลดลงในระดับน่าเป็นห่วง


ขณะที่สถาบันการเงินต่างเตรียมมาตรการต่างๆที่จะรักษาระดับเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่พอเพียงและสอดคล้องกับกฎเกณฑ์ที่กำหนด ส่วนการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลนั้นจะต้องรอดูแนวทางการดูแลเงินระดับเงินกองทุนของสถาบันการเงินในระยะ 3ปีข้างหน้าและทางธปท.ไม่ได้กำหนดว่าเงินกองทุนจะต้องอยู่ในระดับสูงเทียบเท่าก่อนที่จะมีโควิด  


ดังนั้น เรื่องการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลนั้น อาจจะต้องรอดูรายงานกาiรักษาระดับเงินกองทุนในระยะ 3 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ซึ่งเรื่องของเงินปันผลจะเป็นประเด็นที่ตามมา    

 
นายเมธี  ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า   ธปท.มีแนวคิดที่จะผลักดันให้คนไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศ (Out Flow Recycle) ในระยะต่อไป  นอกเหนือจากที่ผ่านมาที่เปิดให้นักลงทุนสถาบัน และกลุ่มที่มีความมั่งคั่ง (High Net Worth: HNW) ซึ่งลักษณะการลงทุนยังเป็นการกำหนดวงเงินและประเภท แต่ภายใต้แนวคิดใหม่จะเปิดให้คนไทยซึ่งเป็นบุคคลทั่วไปสามารถลงทุนโดยกำหนดวงเงินและไม่กำหนดประเภทเหมือนไต้หวัน 


ทั้งนี้ แนวคิดที่จะส่งเสริมให้คนไทยออกไปลงทุนต่างประเทศนั้น เพื่อกระจายความเสี่ยง และรักษาสมดุลระหว่างเงินทุนไหลเข้าไหลออก โดยที่คนไทยสามารถเลือกลงทุนในหุ้นของบริษัทต่างประเทศที่มี  อนาคตได้  
 

อย่างไรก็ตาม แนวทางดำเนินการจะทยอยเป็นเฟส คาดว่าเฟสแรกน่าจะเห็นได้ประมาณต้นปี2564  โดยปรับลดเงื่อนไขและเพดานให้น้อยลงสำหรับบัญชีเงินฝากสกุลเงินต่างประเทศหรือบัญชีFCD เช่น หากไม่มีภาระจะเปิดบัญชีได้เท่าไร หรืออาจจะสามารถโอนFCDระหว่างประเทศได้ ซึ่งเป็นแนวทางเพื่อให้มีความคุ้นเคยกับอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้นทั้งบริษัท รายย่อยและบุคคลธรรมดา


ดังนั้น ธปท.กำลังอยู่ระหว่างหารือประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่งของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อขยายหลักเกณฑ์การลงทุนในต่างประเทศ 


“แนวทาง Out Flow Recycle  เป็นนโยบายที่จะเร่งทำ เพื่อผ่อนคลายหลักเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้บุคคลธรรมดาซึ่งเป็นคนไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศได้ง่ายขึ้น  แต่บางครั้งแม้เราจะเปิดให้ออกไปลงทุนก็อาจจะไม่มีใครอยากออกไปก็ได้  แต่ที่ผ่านมานักลงทุนมักจะให้โบรกเกอร์พาไปกระจายความเสี่ยง ส่วนเรื่องช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินนั้นเป็นผลพลอยได้”