หุ้นแบงก์วูบ 44%สูญ 3 ล้านล้าน

18 ต.ค. 2563 | 01:00 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ต.ค. 2563 | 10:26 น.

หุ้นกลุ่มธนาคารยังอ่อนแอ ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันลดลง 44.39% มาร์เก็ตแคปหาย 3 ล้านล้านบาท ราคาหุ้น KBANK ปรับลดลงสูงสุด 52% หวั่นตั้ง “Ware Housing” กระทบจ่ายปันผลต่ำ 

เวียนมาอีกครั้งกับการประกาศผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไตรมาส 3 ปี 2563 โดยเฉพาะกลุ่มแรกคือ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ ที่นับจากต้นปีถึงปัจจุบันยังไม่มีการฟื้นตัวอย่างเด่นชัด เพราะผลกระทบต่างๆ ที่เข้ามาไม่ขาดสาย ทั้งการระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวมและการใช้มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ต่างๆ ทำให้ หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ถูกเทขายต่อเนื่อง ทั้งจากนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศ

 

ปีนี้นับเป็นปีที่กดดันหุ้น กลุ่มธนาคารพาณิชย์ มากที่สุดปีหนึ่ง เพราะนอกจากมาตรการบัญชีฉบับใหม่ (IFRS9) ที่บังคับใช้มาตั้งแต่ต้นปี ซึ่่งกระทบต่อเงินกันสำรองที่เพิ่มขึ้นจำนวนมากแล้ว ยังต้องมาเจอกับวิกฤติโควิด-19 ที่ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ลดลง และอาจทำให้สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)เพิ่มขึ้นมากจนกระทบต่อเงินกองทุนของธนาคาร ทำให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ถึงขั้นต้องประกาศให้ธนาคารพาณิชย์ งดจ่ายปันผลระหว่างกาล ไปก่อน แถมยังมีกระแสข่าวอีกว่า อาจจะให้งดจ่ายปันผลทั้งปีด้วย    

 

จากการค้นหาข้อมูลของ “ฐานเศรษฐกิจ” ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) พบว่า ตั้งแต่ต้นปี ถึงวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ดัชนีหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ปรับลดลง 195.98 จุด หรือ -44.39% อยู่ที่ 245.48 จุด จากสิ้นปี 2562 อยู่ที่ 441.46 จุด ลดลงมากกว่าดัชนีหุ้นไทยที่อยู่ที่ 1,263.99จุด ลดลง 315.85 จุด หรือ -19.99% จากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 1,579.84 จุด ขณะที่ มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) ลดลง 3,001,422.80 ล้านบาท อยู่ที่ 13,746,033.03 ล้านบาท จากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 16,747,455.83 ล้านบาท 

หุ้นแบงก์วูบ 44%สูญ 3 ล้านล้าน

ขณะที่หากพิจารณาหุ้นรายตัว พบว่า หุ้นธนาคารที่ปรับลดลงมากที่สุด คือ ธนาคาร กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK) ลดลง 78.75 บาท หรือ -52.15% อยู่ที่ 72.25 บาท จากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 151.00 บาท, ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) (TMB) ลดลง 0.83 บาท หรือ -49.40% อยู่ที่ 0.85 บาท จากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 1.68 บาท, ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB) ลดลง 57.75 บาท หรือ -47.33% อยู่ที่ 64.25 บาท จากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 122.00 บาท 

 

ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTB) ลดลง 7.65 บาท หรือ -46.64% อยู่ที่ 8.75 บาท จากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 16.40 บาท และธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) (KKP) ลดลง 29.00 บาท หรือ -43.93% อยู่ที่ 37.00 บาท จากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 66.00 บาท

 

นายธนวัฒน์ รื่นบันเทิง นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ จำกัดเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ทิศทางหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในระยะสั้นยังรอติดตามผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 3 ปี 2563 ที่คาดว่าจะออกมาดีกว่าไตรมาสก่อน ส่วนในระยะยาว นักลงทุนยังรอความชัดเจนของตัวเลขเอ็นพีแอล ซึ่งหากมีตัวเลขที่แน่นอน จะส่งผลดีต่อหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ให้กลับมาฟื้นตัวขึ้นได้ แต่ถ้ายังไม่เห็นชัดเจน ก็ทำให้หุ้นยังคงมีความผันผวนและราคาอยู่ในระดับตํ่าต่อไป 

หุ้นแบงก์วูบ 44%สูญ 3 ล้านล้าน

 

นอกจากนี้ หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ยังมีความอ่อนไหวต่อกระแสข่าวที่ธปท. มีแนวคิดเรื่องการบริหารสินทรัพย์ (AMC) โดยใช้รูปแบบ “Ware Housing” ซึ่งนักลงทุนเกิดความกังวลว่า มาจากเอ็นพีแอลอาจจะมีมากขึ้น แต่มองว่า แนวคิดดังกล่าวไม่ได้มีผลเสียมากนัก เพราะยังไม่จบช่วงมาตรการพักชำระหนี้ที่จะมาถึงในวันที่ 22 ตุลาคมนี้  และถึงแม้ จะยังมีความเสี่ยงสูง แต่คาดว่า ธนาคารพาณิชย์ยังมีความสามารถในการทำกำไร และมีเงินกองทุนในระดับสูงที่เพียงพอรองรับได้

 

“มองว่าการใช้ Ware Housing ไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้น เพราะการตั้งขึ้นมา อาจจะช่วยให้ธนาคารเปลี่ยนเป็นสินเชื่อได้ ซึ่งจากที่ผ่านมาโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยตํ่า(ซอฟต์โลน) 500,000 ล้านบาท แต่ปล่อยได้เพียง 117,000 ล้านบาทเท่านั้น อีกทั้งธนาคารกลัวความเสี่ยงเป็นหนี้เสีย ทำให้ไม่กล้าออกสินเชื่อมากนัก”

ขณะที่การออกหุ้นกู้ของธนาคารมีเป็นปกติทุกปีอยู่แล้ว ไม่ได้มองว่า การออกหุ้นกู้เป็นเพราะเงินกองทุนไม่เพียงพอ เนื่องจากปีที่แล้วดอกเบี้ยของการออกหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์อยู่ระดับสูง ส่วนปีนี้ดอกเบี้ยอยู่ในระดับตํ่า จึงไม่แปลกใจที่จะเห็นการออกหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ของกลุ่มธนาคาร

 

ด้านบล.เอเซีย พลัส จำกัดระบุว่า กรณีที่ธปท.มีแนวคิดตั้ง AMC ในรูปแบบ Ware Housing นั้น หากเกิดขึ้นจริงและธนาคารพาณิชย์เข้าร่วม อาจส่งผลให้ภาระการตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่า จะเกิดขึ้น (Expected credit loss : ECL)ของกลุ่มเร่งตัวขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงกดดันต่อการดำเนินงานกลุ่มธนาคารพาณิชย์ รวมถึงส่งผลต่อเนื่องถึงเงินปันผล

 

แม้ธปท.จะอนุญาตให้จ่ายเงินปันผลได้ หลังประเมิน Stress test เสร็จในช่วงปลายเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2563 แต่โอกาสในการจ่ายเงินปันผลปี 2563 ค่อนข้างตํ่าหรือ จ่ายในอัตราที่ตํ่าลงจากปี 2562 ค่อนข้างมาก ทั้งจากแนวโน้มการดำเนินงานที่อ่อนแอลงและรักษาฐานเงินกองทุนขั้นที่1(Tier-1)เพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ธปท.โล่งใจลูกหนี้ไม่"ตกหน้าผา"หลังมาตรการช่วยเหลือครบ

ธปท.เล็งออกแพ็กเกจช่วยลูกหนี้และแบงก์

คลัง จี้ ธปท.สรุป ยืดเวลาพักชำระหนี้

นายกฯ สั่งธปท.ร่วมเอกชนปรับโครงสร้างหนี้ 6 ล้านล้าน ช่วงล็อกดาวน์
 

หน้า 14  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,619 วันที่ 18 - 21 ตุลาคม พ.ศ. 2563