ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งเริ่มส่งหนังสือแจ้งลูกค้าที่เข้าโครงการพักชำระหนี้ (Debt Holiday) 12.1 ล้านบัญชี มูลหนี้ 6.9 ล้านล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย ธนาคาร ยูโอบี และธนาคาร กรุงเทพ เพื่อแจ้งให้ทราบว่า หลังพ้นวันที่ 22 ตุลาคม 2563 ลูกหนี้จะต้องกลับมาชำระหนี้ตามปกติ ทำให้เกิดความกังวลว่า ลูกหนี้เหล่านี้จะไม่สามารถชำระหนี้ได้และกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)
ออกมาตรการช้า
แหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ระบุว่า ธนาคารพยายามติดต่อลูกค้า เพื่อให้ความช่วยเหลือไปบ้างแล้ว แต่มีบางส่วนที่ไม่สามารถติดต่อได้ ซึ่งเข้าใจว่า น่าจะปิดกิจการแล้ว โดยมาตรการพักชำระหนี้ที่จะครบกำหนดนั้น ยังมีลูกค้าที่ต้องจัดการเป็นหลักล้านราย แต่ทางการยังไม่ประกาศมาตรการที่ชัดเจนออกมาก ซึ่งการพักชำระหนี้ไม่ได้ทำให้ลูกหนี้พ้นความเป็นหนี้ จึงทำให้บางส่วนที่พอชำระได้ ชำระหนี้เข้ามาบางส่วน
สิ่งที่ห่วงคือ ในจำนวนลูกค้าที่สามารถชำระหนี้ได้ 60% นั้นจะจ่ายต่อหรือไม่ เพราะกลุ่มนี้ยังมีหนี้ที่ตั้งพักไว้ช่วงพักหนี้ ถึงเวลาจะชำระต่อหรือไม่ รวมทั้งงานบริหารจัดการจัดการกับพอร์ตลูกหนี้ที่เข้ามาตรการพักหนี้ เพราะหากเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขจะสามารถทำได้ทันหรือไม่ เพราะจะมีทั้งผู้กู้ ผู้จำนองกรณีหลักประกันเป็นของคนอื่น
ขณะที่ลูกหนี้ในรายที่บอกว่า สามารถชำระต่อได้นั้น หากออกจากโปรแกรมจริง ลูกหนี้ยังไหวหรือไม่ ซึ่งหากทางการยังไม่มีมาตรการรองรับคาดว่า เอ็นพีแอลมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้น ทั้งนี้กลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีรายย่อย ในธุรกิจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องกับโรงแรม ทัวร์นำเที่ยว เรือหรือรถเช่า รวมถึงไกด์และร้านขายของที่ระลึก
“ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รู้ล่วงหน้ามามากกว่า 6 เดือน ควรจะออกประกาศให้ชัดเจน ไม่ใช่รอจนครบเวลาสิ้นสุดมาตรการ เพราะอย่างน้อย ก็ต้องเผื่อเวลาให้แบงก์ได้เตรียมงานหลังบ้าน เพื่อรองรับลูกค้าเป็นหลักล้านราย โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่เข้าโปรแกรม Debt Holiday ยังมีหนี้ค้างชำระอีก 6 เดือนจากการยกดอกยกต้น 6 เดือนจนถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2563 ทำให้ลูกหนี้กลุ่มนี้ ยังมีฐานะจัดชั้นปกติอยู่ แต่ถ้าครบมาตรการเขาจะกลับมาชำระหรือไม่ เพราะหนี้ค้างชำระที่แขวนไว้แต่ละรายก็ไม่น้อย ซึ่งที่ผ่านมาแบงก์ได้คุยกับลูกหนี้เป็นรายตัวแต่ก็ยังมีลูกหนี้บางรายที่ติดต่อไม่ได้ เข้าใจว่าเจ๊งจริงๆ”
แห่เสริมกองทุน
ดังนั้นจึงเห็นว่าธนาคารหลายแห่งได้เตรียมการรองรับหนี้เสียที่จะเกิดขึ้น ด้วยการเสริมความแข็งแกร่งของเงินกองทุน โดยเฉพาะธนาคารขนาดใหญ่อย่าง ธนาคาร กรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ที่มีการออกหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ (Perpetual Bond) มูลค่า 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 5% ตามด้วยธนาคาร กสิกรไทย จำกัดหรือ KBANK ออกหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ มูลค่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อัตราดอกเบี้ย 5.275%
แหล่งข่าวกล่าวว่า สัญญาณที่ธนาคารขนาดใหญ่ 2 แห่งคือ BBL และ KBANK ระดมเงินทุนแบบนี้ เป็นการบ่งบอกว่า วิกฤติการทางการเงินในระบบสถาบันการเงินเริ่มต้นขึ้นแล้ว และขอให้จับตาดูการระดมทุนของธนาคาร ไทยพาณิชย์ที่มีพอร์ตสินเชื่อขนาดกลาง ขนาดย่อมจำนวนไม่น้อยและให้ดูธนาคาร กรุงไทย ที่ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียนน้อยที่สุดในระบบธนาคาร เพราะจะต้องเพิ่มทุนในรูปแบบนี้ทั้งสิ้น
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร กรุงไทย (KTB)กล่าวว่า แนวทางการรักษาระดับเงินกองทุนขั้นที่ 1 เป็นเกณฑ์ที่ทุกธนาคารมีการพิจารณา ซึ่งกรุงไทย ก็เป็นหนึ่งในธนาคารที่ต้องเตรียมความพร้อมและติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดถ้าจำเป็น แต่ขณะนี้ ยังไม่มีความจำเป็นต้องออกหุ้นกู้ชั่งนิรันดร์ ซึ่งแนวทางเสริมเงินกองทุนขั้นที่ 1 นั้น มีทางเลือกไม่มาก จึงต้องพิจารณาจากการกำกับดูแลให้สอดคล้องกับมาตรฐาน Tier1
“สถานการณ์ไม่แน่นอน เราต้องประเมินต่อเนื่องและเตรียมความพร้อม ซึ่่งมีหลายมิติที่ต้องพิจารณา เพราะยังมีมาตรการที่ธปท.ให้ความยืดหยุ่นกับธนาคารพาณิชย์ไปถึงสิ้นปี 2564 ซึ่งเอื้อให้ธนาคารพาณิชย์มีความยืดหยุ่นบ้างในระดับเดียวกัน แต่ก็เป็นหน้าผาแห่งความชันของระบบเอ็นพีแอลด้วย ซึ่งขณะนี้ได้มีการพูดคุยเรื่องการขยายเวลาพักหนี้กันอยู่”
หนี้เสียพุ่ง6%
นายธนวัฒน์ รื่นบันเทิง นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ สำนักวิจัย บริษัทหลักทรัพย์(บล.)ทิสโก้ จำกัดกล่าวว่า แนวโน้มเอ็นพีแอล ประเมินจากลูกหนี้ที่เข้าโปรแกรมพักหนี้ในระบบ 30-40% ของยอดสินเชื่อคงค้างทั้งหมด ซึ่งน่าจะทำให้เอ็นพีแอลเพิ่มประมาณ 3% โดยแต่จะใช้เวลาเป็นปีกว่า จึงจะเห็นตัวเลขที่ 3% เพราะจะทยอยเพิ่มขึ้น ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบันยังยากที่จะประเมินว่า ลูกค้ารายไหนควรจะปล่อยให้ล้มหรือไม่ล้ม เพราะหากลูกค้าได้รับความช่วยเหลือให้มากที่สุด กว่าเศรษฐกิจจะกลับมาเป็นปกติได้จริง อาจจะรอดได้
ส่วนแนวโน้มการออกหุ้นกู้ของธนาคารนั้น ปกติจะมีการออกหุ้นกู้สกุลเงินต่างประเทศเดือนกันยายนของทุกปีอยู่แล้ว เพียงแต่ปีนี้ ระยะเวลาในการออกอยู่ในช่วงที่แนวโน้มเอ็นพีแอลยังไม่แน่นอนสูง ทำให้คนตีความว่า จะเป็นการออกหุ้นกู้ เพื่อนำมารองรับหนี้เอ็นพีแอลที่จะเพิ่มสูงขึ้นมากหลังครบมาตรการ แต่ทางธนาคารได้อธิบายแล้วว่า ปีนี้ตลาดเปิดและอัตราดอกเบี้ยไม่สูง ยิ่งมองไปข้างหน้ายังไม่รู้ว่าเอ็นพีแอลจะเป็นอย่างไร การออกหุ้นกู้เก็บตุนไว้ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ไม่ได้หมายความว่า ถ้าไม่ออกหุ้นกู้แล้ว จะมีปัญหาเรื่องเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงจะไม่เพียงพอ
“ผมไม่ห่วงเรื่องเงินกองทุนไม่เพียงพอ เพราะปัจจุบันแบงก์มีเงินกองทุนอยู่ในระดับสูงอยู่แล้ว และประเมินว่า เอ็นพีแอลน่าจะทยอยเพิ่มจนอยู่ที่ระดับ 3%บวกกับเอ็นพีแอลในระบบที่มีอยู่แล้วอีก 3%เท่ากับ 6% แบงก์น่าจะมีช่วงเวลาในการตั้งสำรอง 2ปีและตราบใดที่กำไรแบงก์ยังไม่ติดลบในส่วนของกำไรสะสมยังโอเคอยู่ ”
ส่วนแนวทางที่ธปท.จะออกแพกเกจดูแลลูกหนี้ โดยจัดตั้งเอเอ็มซีหรือware Housing เพื่อโอนย้ายลูกหนี้ออกมาเพื่อให้แบงก์ตัวเบาและกล้าที่จะปล่อยสินเชื่อหรือซอฟต์โลนได้มากขึ้นนั้น ไม่แน่ใจรูปแบบหรือแค่ช่วยการันตี ซึ่งวันที่ 22ตุลาคม 2563 จะครบกำหนดพักชำระหนี้(Debt Holiday) หลังจากที่ธปท.ออกมาตรการเมื่อ 23 เมษายน 2563 หากเอ็นพีแอลไม่กระโดดมาแบงก์จะมีช่วงเวลาตั้งสำรอง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ลุ้นแบงก์ชาติ ขยายเวลาพักชำระหนี้
คลัง จี้ ธปท.สรุป ยืดเวลาพักชำระหนี้
ธปท.โล่งใจลูกหนี้ไม่"ตกหน้าผา"หลังมาตรการช่วยเหลือครบ
ธปท.เล็งออกแพ็กเกจช่วยลูกหนี้และแบงก์
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,619 วันที่ 18 - 21 ตุลาคม พ.ศ. 2563