หุ้นมึน! ประเมินม็อบยาก

26 ต.ค. 2563 | 03:55 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ต.ค. 2563 | 10:55 น.

การเมืองกดดันหุ้นไทย โบรกห่วงยืดเยื้อ เสี่ยงรุนแรง หลังข้อเรียกร้องมากกว่าม็อบในอดีต หาจุดลงตัวไม่ได้ ชี้เปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญลดความร้อนแรงได้ระยะสั้น

การลงทุนในตลาดหุ้นไทยปัจจุบัน นอกจากแรงกดดันจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทั่วโลกยังพบผู้ติดเชื้อต่อเนื่อง ทำให้ยุโรปกลับมาใช้มาตรการ Lockdown อีกครั้ง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวช้าแล้ว ในประเทศเองยังเจอกับแรงกดดันจากการเมืองในประเทศที่สถานการณ์การชุมนุมในปัจจุบันยังคงยืดเยื้อหาจุดสิ้นสุดไม่ได้ 

ทั้งนี้นับจากที่มีการชุมนุมทางการเมือง วันที่ 14-19 ตุลาคม 2563 ดัชนีหุ้นไทยปรับลดลง 64.68 จุด หรือ -5.07% และตั้งแต่ต้นปี ถึงวันที่ 19 ตุลาคม 2563 ดัชนีลดลง 371.09 จุด หรือ -23.48% ส่วนนักลงทุนต่างชาติยังขายสุทธิต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 14-19 ตุลาคม 2563 ขายสุทธิ 4,574.86 ล้านบาท และตั้งแต่ต้นปี ถึงวันที่ 19 ตุลาคม 2563 ขายสุทธิ 289,518.65 ล้านบาท 

 

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศ ไทย)จำกัดเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองในครั้งนี้ มีความน่ากังวลมากกว่าการชุมนุมในอดีตที่ผ่านมา เนื่องจากมีข้อเรียกร้องที่นอกจากการเปลี่ยนอำนาจการปกครองประเทศคือ การปฏิรูปสถาบัน ทำให้มีความอ่อนไหว เปราะบางมากและประเมินไม่ได้ว่า ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร เพราะไม่สามารถหาจุดที่ลงตัวได้ ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะยืดเยื้อ และอาจเกิดความรุนแรงได้

หุ้นมึน! ประเมินม็อบยาก

อย่างไรก็ตามมองว่า หุ้นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ กลุ่มที่อิงกับการเมืองและสัมปทาน เช่น รถไฟฟ้า รับเหมาก่อสร้าง และกลุ่มท่องเที่ยว โดยในกลุ่มท่องเที่ยวจะได้รับผล
กระทบจากความไม่แน่นอนทางการเมือง แม้จะมีการให้วีซ่าพิเศษกับนักท่องเที่ยวต่างชาติก็ตาม แต่ก็จะไม่ได้เห็นในจำนวนที่มากนัก ซึ่งตัวเลขอัตราการเข้าพักโรงแรมในเดือนกันยายน 2563 อยู่ที่ 34% ดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 31% แต่ยังเป็นระดับที่ตํ่า เพราะโรงแรมขนาดใหญ่หากจะมีกำไรได้ดีต้องเข้าพักในอัตรา 50-60%

“การชุมนุมทางการเมืองครั้งนี้ ประเมินสถานการณ์ได้ยาก เพราะการชุมนุมในอดีตจะมีวัตถุประสงค์จำกัดแค่ล้มอำนาจรัฐบาลนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเสื้อเหลือง เสื้อแดง หรือกปปส. แต่ปัจจุบันมีข้อเรียกร้องเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบัน ซึ่งอ่อนไหว และเปราะบางมากๆ ทำให้นักลงทุนมองว่ามีความเสี่ยงยืดเยื้อ และอาจจะนำไปสู่ความรุนแรง จากการไม่สามารถหาจุดที่ลงตัวได้ ขณะที่ หุ้นกลุ่มที่อิงการเมืองก็มีความอ่อนไหว สะท้อนจากการปรับลดลงที่ค่อนข้างแรงในช่วงที่ผ่านมา”

 

ขณะที่การที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้เปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ ในวันที่ 26-27 ตุลาคม 2563 นั้น มีมุมมองเป็นบวก โดยคาดว่าจะลดอุณหภูมิความรุนแรงทางการเมืองได้ในระยะสั้น เนื่องจากเป็นข้อเรียกร้อง 1 ใน 3 ข้อ ของกลุ่มผู้ชุมนุม รวมถึงจะลดความผันผวนของการลงทุนในหุ้นไทยได้

ด้านบล.ทิสโก้ จำกัด ระบุว่า การเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ เป็นการเปิดอภิปรายตามมาตรา 165 โดยไม่มีการลงมติ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของสภา แต่อาจยังไม่ใช่ทางออกร่วมของกลุ่มผู้ชุมนุมนอกสภา ทั้งนี้ ยังเชื่อว่า การชุมนุมยังคงยืดเยื้อและกดดันตลาดหุ้นไทยอยู่จนกว่าจะมีการเปิดประชุมสภาสมัยสามัญในต้นเดือนพฤศจิกายน และมีการพิจารณารายละเอียดญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว

 

บล.เอเซีย พลัส จำกัดระบุว่า ข้อมูลในอดีตช่วงเวลาที่เหตุการณ์ทางการเมืองร้อนแรง หุ้นมักจะปรับฐานเร็วและแรงเสมอ แต่ก็พร้อมจะฟื้นกลับได้เร็วเช่นกัน สะท้อนจากระยะเวลาในการปรับฐานของดัชนี หลังจากรัฐประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน 1 เดือนให้หลัง 

 

ทั้งนี้จาก 4 เหตุการณ์สำคัญในอดีต คือ พฤษภาทมิฬ, พันธมิตร, นปช. และกปปส. พบว่า Historical P/E ลดลงแรงสุด 0-1 เท่า และดัชนีหุ้นไทยลดลง 0-7.4% และระยะเวลาในการปรับลงจนถึงจุดตํ่าสุด คือ 0-11 วัน ทั้งนี้ นักลงทุนต้องติดตามประเด็นการเมืองอย่างใกล้ชิด หากมีความคืบหน้าในทิศทางที่ดีขึ้น ถือเป็นโอกาสในการเพิ่มนํ้าหนักการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง โดยแนะนำถือเงินสด 35% ของพอร์ตการลงทุน ส่วนอีก 65% เน้นลงทุนในหุ้นปันผลสูง 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กสิกรไทย มองเงินบาทอ่อนค่า สัปดาห์หน้าจับตา การเมืองในประเทศและข้อมูลส่งออกไทยเดือนก.ย.

ธ.สแตนชาร์ดฯ หั่นเศรษฐกิจไทยปีนี้ติดลบ 8%  หวั่นการเมืองซ้ำเติม 

"อาคม" ไม่หวั่นการเมืองแทรก ประกาศเดินหน้า4 นโยบายเร่งด่วน

การเมืองร้อน ทุนต่างชาติชะงัก

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,620 วันที่ 22 - 24 ตุลาคม พ.ศ. 2563