ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป เราต้องโบกมือลากองทุนประหยัดภาษียอดฮิตอย่าง LTF และเปิดประตูให้กับ กองทุนประหยัดภาษีตัวใหม่ กองทุนรวมเพื่อการออม หรือ Super Savings Fund (“SSF”) นั่นเอง หลายๆ ท่านอาจจะเคยได้ยินกันมาบ้างแล้ว หรือบางท่านยังไม่ทราบว่า SSF คืออะไร มีกฎเกณฑ์ นโยบายการลงทุนอย่างไรบ้าง วันนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีเราจะมาทำความรู้จัก SSF ไปพร้อมๆ กัน แล้วทุกท่านจะเห็นประโยชน์ของ SSF มากกว่าแค่การนำไปลดหย่อนภาษีอย่างแน่นอน
จากการไม่ต่อสิทธิในการลดหย่อนภาษีของ LTF ในปีที่ผ่านมา ทำให้รัฐบาลมีนโยบายออกกองทุนใหม่มาทดแทนในทันที โดย SSF บางส่วนได้ทำการ IPO (Initial Public Offering) หรือออกเสนอขายแก่ประชาชนทั่วไปเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา (และน่าจะมีกอง SSF ทยอยออกมาเรื่อยๆ) เนื่องจากที่ผ่านมากองทุนรวมเพื่อการลดหย่อนภาษีเหล่านี้มีส่วนช่วยทั้งในด้านการส่งเสริมการออมการลงทุนระยะยาวของประชาชน และกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ SSF ที่ออกมาใหม่นั้นมีกฎเกณฑ์ที่จะเน้นไปในทางการส่งเสริมการออมและลงทุนระยะยาวนั่นเอง
โดยกฎเกณฑ์และคุณลักษณะของ SSF ค่อนข้างแตกต่างไปจาก LTF เดิมอยู่มาก เรียกว่าแทบไม่เหมือนกันเลยครับ เราลองมาดูกัน
⦁ นโยบายการลงทุน : หลากหลาย สามารถลงทุนในสินทรัพย์ได้ทุกประเภท
⦁ การลดหย่อนภาษี : ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท (รวม PVD, RMF, กบข., กอช. และเบี้ยประกันบำนาญ แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท)
⦁ ความต่อเนื่องและวงเงิน : ไม่จำเป็นต้องลงทุนต่อเนื่อง และไม่มีขั้นต่ำ
⦁ ระยะเวลาถือครอง : 10 ปีขึ้นไป (นับจากวันที่ซื้อกองทุน)
เมื่อดูจากคุณลักษณะของ SSF จะเห็นได้ชัดเลยใช่ไหมครับว่าค่อนข้างจะยืดหยุ่นมากขึ้นในแง่ของทางเลือกในการลงทุน เพราะสามารถเลือกลงทุนในสินทรัพย์หลายประเภท ต่างจาก LTF ที่ต้องลงในหุ้นไทยอย่างน้อย 65% ตรงนี้คือ ข้อดีของ SSF ที่ช่วยให้หลายๆ ท่านสามารถเลือกกระจายการลงทุนตามความเสี่ยงที่ตัวเองรับได้ ต่อให้ระยะเวลาในการลงทุนจะเป็น 10 ปีเป็นต้นไป และการนับเป็นแบบวันชนวัน แต่ถ้าหากพอร์ตการลงทุนมีการกระจายการลงทุนไว้อย่างดีแล้ว เชื่อได้เลยครับว่ายิ่งระยะเวลาการลงทุนนานยิ่งจะช่วยลดความผันผวนของพอร์ต และสร้างผลตอบแทนได้เป็นอย่างดี
อีกหนึ่งประโยชน์ของการลงทุนในกองทุน SSF ที่ไม่เพียงแต่จะนำมาลดหย่อนภาษีในปีนั้นๆ อยากให้หลายๆ ท่านลองมองในมุมของกองทุนการเกษียณดูครับ ด้วยกฎเกณฑ์ที่ต้องถืออย่างน้อย 10 ปีนับจากวันที่ซื้อ ทำให้บางท่านสามารถนำ SSF มาเป็นส่วนหนึ่งของกองทุนเกษียณเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตหลังเกษียณได้
เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับอีกหนึ่งทางเลือกของการลงทุน พ่วงมากับประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี ครบจบในที่เดียวกับ SSF ท่านที่สนใจสามารถศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมในหนังสือชี้ชวนการลงุทนของ SSF แต่ละกองทุน เพราะมีนโยบายการลงทุนที่แตกต่างกันไป หากไม่มั่นใจสามารถปรึกษานักวางแผนการเงิน CFP® ถึงความเหมาะสม และทางเลือกในการลงทุน
และอย่าลืมเตรียมตัววางแผนจัดการภาษีกันล่วงหน้า โดยสามารถซื้อกองทุน SSF ได้แล้วตั้งแต่วันนี้ อย่าปล่อยให้ถึงวันสุดท้ายของสิ้นปี เพราะตอนนั้นอาจจะสายเกินไปหรือไม่มีเงินสดในมือเพียงพอก็เป็นได้
โดย ณัฐพล ควรสถิตย์ นักวางแผนการเงิน CFP®