สถานการณ์การเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมในประเทศ นับตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 จนรัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่กรุงเทพฯเพื่อควบคุมม็อบที่มีผลเมื่อเวลา 4.00 น. ของวันที่ 15 ต.ค. และล่าสุดวันนี้ ( 22 ตุลาคม 2563 ) นายกรัฐมนตรี ประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินฯ มีผลตั้งแต่เวลา 12.00 น.ของวันนี้
จากข้อมูลตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่าช่วงตั้งแต่วันที่ 14 - 22 ตุลาคม 2563 ( 7 วันทำการ ) ดัชนีหุ้นไทยปรับลดลง 53.53 จุด หรือ - 4.22% จากเมื่อวันที่ 12 ต.ค.ที่อยู่ระดับ 1,267.14 จุด มายืนที่ 1,213.61 จุด ( 22 ต.ค.) ขณะที่มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ( มาร์เก็ตแคป ) ลดลง 425,397 ล้านบาท หรือ - 3.09% มาอยู่ระดับ 13,352,973 ล้านบาท นอกจากนี้พบว่านักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิในช่วง 7 วันทำการรวม 6,876 ล้านบาท
ต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 14 - 22 ต.ค. 63
วันที่ 14 ต.ค. 63 มูลค่า - 2,665 ลบ.
วันที่ 15 ต.ค. 63 มูลค่า - 1,740 ลบ.
วันที่ 16 ต.ค. 63 มูลค่า - 480 ลบ.
วันที่ 19 ต.ค. 63 มูลค่า + 310 ลบ.
วันที่ 20 ต.ค. 63 มูลค่า - 551 ลบ.
วันที่ 21 ต.ค. 63 มูลค่า - 1,088 ลบ.
วันที่ 22 ต.ค. 63 มูลค่า - 662 ลบ.
และนับตั้งแต่สิ้นปีถึงปัจจุบัน ผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 และการชุมนุมทางการเมือง ฉุดดัชนีหุ้นไทยปรับลดลง 23.18% จากสิ้นปี 2562 ที่อยู่ระดับ 1,579.84 จุด ขณะที่มูลค่ามาร์เก็ตแคปลดลง 3.12 ล้านล้านบาท หรือ -18.68% จากสิ้นปี 62 ที่มีมูลค่า 16.70 ล้านล้านบาท และนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิถึงปัจจุบันแล้ว 291,820 ล้านบาท
นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ กล่าวว่าแนวโน้มตลาดหุ้นไทยในช่วงที่เหลือยังแกว่งไซด์เวย์ดาวน์ จนกว่าจะสามารถขึ้นมายืนเหนือระดับ 1,300 จุดเท่านั้นตลาดหุ้นไทยจึงจะเปลี่ยนแนวโน้มเป็นแนวทางอื่น โดย 3 ปัจจัยเสี่ยงหลักที่ยังคงกดดันตลาดอยู่ ได้แก่ สถานการณ์แพร่ระบาด COVID-19 ในต่างประเทศ ทั้งสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป, ความไม่แน่นอนของผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และปัญหาการเมืองในประเทศที่ยังคาราคาซังอยู่ ทั้งการชุมนุมทางการเมือง และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ด้านสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อเร็วๆนี้ว่า การชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาลไทยในเวลานี้อาจทำให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์ของภูมิภาคเอเชียที่มีผลดำเนินการย่ำแย่ที่สุดสำหรับปีนี้ ต้องดำดิ่งลงไปอีก เนื่องจากนักลงทุนกำลังวิตกกันว่า ความไม่แน่นอนทางการเมืองในเวลานี้ อาจเพิ่มเติมปัจจัยเสี่ยงให้กับเศรษฐกิจไทยที่บอบช้ำอยู่แล้วเนื่องจากพึ่งพาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมากจนเกินไป