แม้ช่วงเดือนตุลาคม 2563 ตลาดหุ้นไทย ยังคงผันผวนและมีความกังวลกับสถานการณ์ต่างๆ ทั้งการระบาดของ ไวรัสโควิด-19 รอบสองในทั่วโลก ทำให้บางประเทศต้องกลับมาใช้มาตรการ Lockdown อีกครั้ง รวมถึง การเมืองในประเทศ ที่มีการชุมนุมทางการเมืองยืดเยื้อ และกระแสเงินลงทุนจาก นักลงทุนต่างชาติ ยังคงไหลออกต่อเนื่อง แต่การระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)ยังคงเดินหน้าต่อ หลังจากชะลอเสนอขายหุ้นสามัญแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ)ช่วงที่ไวรัสโควิด-19 ระบาดหนัก
รายงานข่าวจากตลท.เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1-22 ตุลาคม 2563 มีบริษัทจดทะเบียน(บจ.)ใหม่ จะเริ่มซื้อขายหุ้นไอพีโอรวม 7 บริษัท มีมูลค่าการระดมทุนรวม 41,883.73 ล้านบาท ส่วนมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) ณ ราคาไอพีโอ รวมอยู่ที่ 160,684.40 ล้านบาท
ทั้งนี้หุ้นไอพีโอใหม่ทั้งหมด มีราคาเปิดซื้อขายที่สูงกว่าราคาจองซื้อ โดยหุ้นที่เปิดสูงที่สุดคือ บริษัท เคแอนด์เค ซุปเปอร์สโตร์ เซาท์เทิร์น จำกัด (มหาชน) (KK) เปิดสูงกว่าราคาจองซื้อที่ 172.72% และบริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) (NRF) เปิดสูงกว่าราคาจองซื้อที่ 106.52% และล่าสุดเมื่อ 26 ตุลาคม บริษัท ดีเฮ้าส์พัฒนา จำกัด (มหาชน) (DHOUSE) นำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai)พบว่า ราคาเปิดสูงกว่าราคาจองซื้อที่ 11.67%
ขณะที่หุ้นที่มีมูลค่าการระดมทุนมากที่สุดรวมถึงมาร์เก็ตแคป ณ ราคาไอพีโอ สูงที่สุด คือ บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) (SCGP) มูลค่ารวม 39,464.25 ล้านบาท และมาร์เก็ตแคปอยู่ที่ 148,874.25 ล้านบาท ราคาเปิดซื้อขายวันแรกสูงกว่าราคาจองซื้อที่ 5.71%
สำหรับหุ้นไอพีโอที่เตรียมเข้าระดมทุนหลังจากนี้บริษัท ชริ้งเฟล็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (SFT) เข้าซื้อขายในวันที่ 29 ตุลาคม 2563 จำนวน 120 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 3.80 บาท คิดเป็นมูลค่าระดมทุน 456 ล้านบาท ซึ่งรวม 2 บริษัท มีมูลค่าระดมทุนอยู่ที่ 586.32 ล้านบาท
นายภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์(บล.)เอเซีย พลัส จำกัด เปิดเผยว่า SCGP ถือเป็นหุ้นใหม่ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนไทยและนักลงทุนต่างชาติเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีทั้งปัจจัยภายในและภายนอกที่จะช่วยผลักดันราคาหุ้น โดยราคาไอพีโอของ SCGP อยู่ที่ 35.00 บาท คิดเป็น PER ปี 2564 เพียง 21.7 เท่า ซึ่งถือว่าถูกกว่าหุ้นในกลุ่มเดียวกันของทั้งในและต่างประเทศที่ซื้อขายกันบน PER ปี 2564 เฉลี่ยที่ 24 เท่า
ขณะที่แนวโน้มการเติบโตยังเร่งตัวขึ้นได้ตามความต้องการใช้กล่องส่งสินค้า และหีบห่อบรรจุภัณฑ์ ตามการเติบโตในยุค E-Commerce และกำลังการผลิตยังสามารถรองรับ Pending Demand ได้อีก
นอกจากนี้ SCGP มี Greenshoes จำนวน 169.13 หุ้น เพื่อรองรับไม่ให้ราคาหุ้นตํ่าจองในช่วงสั้น ยังมีแรงหนุนจากกองทุน Passive Fund เนื่องจากมีโอกาสเข้าคำนวณในดัชนี SET50-SET100 แบบ Fast Track รวมถึงยังมีโอกาสเข้าคำนวณในดัชนี MSCI ในรอบถัดไปที่จะประกาศผลวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 และดัชนี FTSE ประกาศผลวันที่ 20 พฤศจิกายน 2563 เหมือนกับหุ้นบริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) (AWC) และบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (CRC) ที่อยู่ทั้ง 2 ดัชนี
นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลท. กล่าวว่า SCGP ดำเนินธุรกิจโดยการลงทุนในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ประกอบธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร และ ธุรกิจเยื่อและกระดาษ โดยรายได้หลักกว่า 80% มาจากสายธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร ที่มุ่งเน้นการนำเสนอสินค้าและบริการด้วยโซลูชันที่หลากหลายกว่า 120,000 รูปแบบ (SKUs) เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่ม
จากข้อมูลการสำรวจในปี 2562 บริษัทเป็นผู้ประกอบการกระดาษบรรจุภัณฑ์ลูกฟูกและบรรจุภัณฑ์กล่องลูกฟูก อันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ 36% โดยผู้ประกอบการอันดับที่ 2 มีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 12%
ด้านนายนายมณฑล จุนชยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน วรรณ จำกัดกล่าวว่า มุมมองต่อการลงทุนตลาดหุ้นปีนี้ มีโอกาสปรับตัวขึ้นได้ เป้าหมายดัชนีสิ้นปีที่ระดับ1,380 จุด จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐที่ได้ผลตอบรับดีและไม่มีการระบาดรอบสอง
ส่วนปีหน้าตั้งเป้าดัชนีที่ 1,440 จุด EPS ที่ 76บาท/หุ้น ภายใต้สมมุติฐานกำลังการผลิตทั่วโลกและกิจกรรมทางการค้าเริ่มฟื้นตัว แต่ตลาดมีความไม่แน่นอนสูง โดยต้องติดตามดูปัจจัยทางการเมืองที่ยังกดดันตลาด ยังเชื่อว่าจะดีขึ้นหากทำให้มีทางออกระดับหนึ่งทำให้เกิดความพอใจบ้าง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
JR เตรียมขายไอพีโอ 200 ล้านหุ้น
บลจ.วรรณ แนะเก็บหุ้นดีเข้าพอร์ต ก่อนเลือกตั้งสหรัฐ
หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,621 วันที่ 25 - 28 ตุลาคม พ.ศ. 2563