ในงานเปิดตัว e-withholding TAX ที่เดียวครบ จบทุกขั้นตอนนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดี กรมสรรพากร เปิดเผยว่า ในการพัฒนาระบบภาษีด้วยระบบดิจิทัล(Digital Transformation)ตลอด 2 ปีที่ผ่าน ทั้งการทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์/ใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice/e-Receipt) ,การการรับชำระและคืนภาษีในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Tax-VAT Collect and Refund) โครงการสรรพากรดิจิทัลอื่นๆ,
ความร่วมมือกับสตาร์ทอัพภายใต้โครงการของกรมสรรพากรต่างๆ รวมถึงบริการหักภาษี ณ ที่จ่ายอิเล็กทรอนิกส์ (e-Withholding Tax) แบบครบวงจร ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดขั้นตอนการทำงานระหว่างผู้ประกอบการ ประชาชน รวมถึงสรรพากรเอง ซึ่งได้ช่วยให้เกิดการขยายฐานภาษีให้กรมฯ ได้มากขึ้น โดยปีที่ผ่านมามีผู้ยื่นแบบภาษีทั้งเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลเพิ่มมากขึ้นกว่าปีก่อนหน้ามาก ดังนั้นจึงเชื่อว่าการทำ e-withholding TAX ครั้งนี้จะมีผู้ประกอบการเข้าร่วมยื่นแบบผ่านระบบดังกล่าวมากขึ้นได้
ทั้งนี้ กรมฯร่วมกับ สมาคมธนาคารไทย สถาบันการเงินรวม 11 แห่งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าไทย ในการร่วมมือกันพัฒนานวัตกรรมการชำระภาษี e-withholding TAX ซึ่งจะช่วยลด 5 ด้าน ประกอบด้วย 1.ลดขั้นตอนการยื่นแบบภาษีดังกล่าวให้กับผู้ประกอบการ และประชาชนให้มีความสะดวกมากขึ้น 2.ลดต้นทุนในการทำธุรกิจทั้งการออกเอกสาร ลดระยะเวลาในการเตรียมเอกสารเพื่อประกอบการยื่นและการชำระภาษีต่างๆ รวมถึงการเดินทางมายื่นภาษีที่กรมสรรพากร และการจัดเก็บเอกสาร
3.ลดภาษีในการชำระภาษีจากปัจจุบัน การเสียภาษี e-withholding TAX สำหรับการจ้างงานและบริการจะเสียอยู่ในอัตรา 3% จะปรับลดลงเหลือ 2% ถึง ธ.ค. 2564 ซึ่งอาจทำให้การจัดเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่ายของกรมจากที่เคยจัดเก็บได้ 7,000 ล้านบาทต่อปี ลดลงไปบ้าง แต่จะทำให้ผู้จ้างและผู้รับจ้างมีสภาพคล่องในกระเป๋าเพิ่มมากขึ้น แต่ท้ายที่สุดแล้วกรมไม่ได้สูญเสียรายได้ในภาพรวมไป เนื่องจากการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรม และนิติบุคคล จะจัดเก็บตามฐานภาษีที่ต้องชำระอยู่แล้ว โดยภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะมีฐานภาษีตั้งแต่ 0-35% ขณะที่ภาษีเงินได้นิติบุคคล จะจัดเก็บอยู่ที่ 20%
4.ลดความยุ่งยากในการยื่นภาษี เพราะสามารถยื่นแบบและชำระภาษีได้ที่สถาบันการเงินที่เข้าร่วม โดยสถาบันการเงินจะเป็นผู้ยื่นชำระภาษีให้กับผู้เสียภาษีเอง โดยที่ผู้ประกอบการไม่ต้องเตรียมหรือจัดเก็บเอกสารเพิ่มเติม ขณะที่ผู้รับจ้างไม่จำเป็นต้องเก็บเอกสารเพื่อยื่นภาษีในปีถัดไปเหมือนที่ผ่านมา
5.ลดการตรวจสอบ โดยทั้งผู้ประกอบการและผู้รับจ้าง สามารถตรวจสอบข้อมูลภาษีของตนเองได้ ที่ my tax account ที่จะรวบรวมข้อมูลสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับทั้งหมดของผู้เสียภาษี รวมถึงอัตราที่ต้องชำระภาษีด้วย
ด้านนายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB และในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ธนาคารพาณิชย์พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการขับเคลื่อนตามนโยบายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ ที่จะทำให้ทุกภาคส่วนเข้าถึงการบริการทางการเงิน
ทั้งนี้ ในช่วงการระบาดของโควิด-19 พฤติกรรมของผู้บริโภคและธุรกิจไทยเปลี่ยนแปลงไป โดยหันมาชำระค่าบริการและค่าสินค้าผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น ดังนั้นจึงเชื่อว่า การทำ e-withholding TAX จะสามารถต่อยอดการทำธุรกิจและขยายไปสู่การชำระภาษีประเภทอื่นเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนผู้ใช้บริการได้
“ขณะนี้เป็นช่วงเริ่มต้น e-withholding TAX ซึ่งมีทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่และเอสเอ็มอีให้ความสนใจเข้าร่วมมาก โดยในช่วงแรกสถาบันการเงินจะไม่คิดค่าธรรมเนียมในการดำเนินการ เพื่อสนับสนุนให้คนหันมาใช้ช่องทางดังกล่าวมากขึ้น”นายผยง กล่าว
นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL กล่าวว่า ธนาคารพร้อมให้ความร่วมมือในการยื่น และชำระภาษี e-withholding TAX โดยเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์และช่วยผู้ประกอบการในการดำเนินการยื่นภาษีให้มีความสะดวก รวดเร็ว รวมถึงลดขั้นตอนที่ซับซ้อน นอกจากนี้ ธนาคารยังมีแผนที่จะขยายการให้บริการการชำระเงินในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า เพิ่มเติมจากปัจจุบัน ที่ให้บริการการชำระเงินในประเทศ
สำหรับธนาคารที่เปิดให้บริการ e-withholding TAX ในปัจจุบันมีทั้งสิ้น 11 แห่งประกอบด้วย 1.KTB 2.ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK 3.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 4.BBL 5.ธนาคารมิซูโฮ จำกัด สาขากรุงเทพ 6.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY
7.ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB 8.ธนาคาร ซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น 9.ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด 10.ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB และ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สรรพากร ลดภาษีหัก ณ ที่จ่าย เหลือ 2% ดีเดย์ 1 ต.ค.63
พิษโควิดทำรายได้สรรพากรลดวูบ 120,000 ล้านบาท
“อดีตบิ๊กสรรพากร”เฮศาลถอนคำสั่งปลดออกปมโอนหุ้นชินคอร์ป
สรรพากร เตือน แม่ค้าออนไลน์ ยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี ด่วน