เลือกตั้งสหรัฐอเมริกากับการลงทุน

28 ต.ค. 2563 | 09:08 น.
อัปเดตล่าสุด :02 พ.ย. 2563 | 07:25 น.

ในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 ที่จะถึงนี้ เป็นวันสำคัญของประเทศสหรัฐอเมริกาคือวันเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยที่ 46 ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ต้องจับตามองอย่างยิ่งในแง่การลงทุน เพราะปัจจุบันนี้เราจะเห็นว่าตลาดหุ้นอเมริกานั้นถือเป็นตลาดหุ้นที่มีอิทธิพลสูงสำหรับการลงทุนในต่างประเทศ และถือเป็นตลาดที่ทำผลงานได้ดีเป็นอันดับต้นๆ

 

ในปีนี้ถึงแม้ว่าตลาดหุ้นทั่วโลกจะโดนวิกฤติ COVID- 19 จนซบเซาไปตามๆ กัน เนื่องจากตลาดหุ้นสหรัฐนั้นเต็มไปด้วยบริษัทที่มีการลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเป็นจำนวนมาก เช่น บริษัท เทสล่าร์ มอเตอร์ ที่ลงทุนด้านการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงเทคโนโลยีชีวภาพที่เป็นความหวังของคนทั้งโลกในการค้นพบวัคซีนเพื่อต่อสู้กับการแพร่ระบาดไวรัส เช่น บริษัทโมเดอร์นา ที่มีข้อตกลงในการซื้อขายวัคซีนกับรัฐบาลสหรัฐฯ ทำให้ภาพรวมของตลาดหุ้นสหรัฐนั้นยังเป็นที่นิยมของนักลงทุนในปีนี้

 

ซึ่งผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีแต่ละครั้งจะนำไปสู่นโยบายต่างๆ ตามที่หาเสียงไว้ เช่นในสมัยของโอบามาก็มีการผลักดันระบบประกันสุขภาพทั่วหน้า หรือที่เรียกกันว่า “โอบามาแคร์” ทำให้ประชาชนอเมริกาเข้าถึงการรักษาด้วยสวัสดิการที่ถูกลงกว่าเดิม แต่ก็สงผลกระทบต่อกลุ่ม healthcare คือทำให้มีรายได้ที่ลดลง หรือสมัยของทรัมป์ที่มีนโยบายลดภาษีนิติบุคคลลง ทำให้ผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐนั้นเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องเป็น all time high บ่อยครั้ง 

 

โดยการเลือกตั้งครั้งนี้ ฝั่งพรรครีพับลิกันยังคงเป็นโดนัลด์ ทรัมป์และไมค์ เพนซ์ลงสมัครเช่นเดิม ส่วนทางด้านพรรคเดโมแครตนั้นโจ ไบเดน ได้เลือกกมลา แฮร์ริส เป็นคู่ชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐซึ่งเป็นนักการเมือง “สายกลาง” เช่นเดียวกับไบเดน ซึ่งทางด้านนโยบายของผู้สมัครฯ แต่ละคนเป็นดังนี้
 

นโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ ยังคงเป็นนโยบาย “American First” เช่นเดิมโดยเน้นการปกป้องธุรกิจในประเทศ เช่นการตั้งกำแพงภาษี การกีดกันการค้า และการยกเลิกสิทธิพิเศษทางภาษีของประเทศคู่ค้า และยังคงลดหย่อนภาษีของนิติบุคคลให้อยู่ในระดับต่ำต่อไป (ซึ่งส่งผลดีต่อบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐโดยรวม) เป็นต้น

 

นโยบายของโจ ไบเดน ชูนโยบาย “Buy American” โดยเน้นการบริโภคภายในประเทศ เช่นการสนับสนุนให้ประชาชนเลือกซื้อสินค้าที่ผลิตในประเทศ และยกเลิกการลดหย่อนภาษีนิติบุคคล (ซึ่งจะกระทบกับผลกำไรของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐ ทำให้อัตรากำไรลดลง) เป็นต้น

 

ถึงแม้ว่าการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกาจะดูเป็นเรื่องไกลตัวกับประเทศไทยก็ตาม และจากสถิติที่ผ่านมานั้นส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยน้อยมาก แต่สำหรับนักลงทุนที่มีพอร์ตการลงทุนในต่างประเทศนั้นมีผลกระทบอย่างยิ่ง เพราะในช่วงเปลี่ยนผ่านนโยบายย่อมจะเกิดความไม่แน่นอน และมีโอกาสส่งผลลบต่อพอร์ตการลงทุน ดังนั้นหากนักลงทุนอยู่ในช่วงทบทวนพอร์ตการลงทุน ก็สามารถใช้จังหวะนี้ในการพิจารณาปรับสัดส่วนการลงทุนต่อไป

 

 

โดย ธนพงษ์ เอื้อสมิทธ์ นักวางแผนการเงิน CFP®