ก่อนเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนที่ 21 อย่างเป็นทางการ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ก็ใช่ว่าจะเป็นคนอกเสียทีเดียว เพราะก่อนหน้านายเศรษฐพุฒิ เป็นอีกเสียงให้น้ำหนักกับนโยบายการเงินและเศรษฐกิจ จากบทบาทของหนึ่งเสียงใน คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มาร่วม 6 ปี
นายเศรษฐพุฒิ ให้สัมภาษณ์กับบรรณาธิการข่าวเศรษฐกิจและการเงินกับสื่อมวลชนว่า ผมถือว่าเป็นกึ่งคนนอก กึ่งคนในมาระยะหนึ่ง แต่เมื่อเข้ามานั่งเต็มตัว ก็จะเห็นว่า ภาพของธปท.ก็ไม่ต่างกัน เพราะผมขลุกกับคนนอกมาระดับหนึ่ง รู้ถึงสภาพปัญหา ยอมรับว่าปัญหาก่อนเข้ามามันหนัก และต่างกับ วิกฤติปี 40 มาก ครั้งนั้นเกิดกับธปท.โดยตรง และผลกระทบต่อรายใหญ่ คนรวย ทุนสำรองระหว่างประเทศหมด อัตราแลกเปลี่ยนมีปัญหา แต่รอบนี้ผลกระทบกระจายเป็นวงกว้าง และกระทบไปถึงระดับรากหญ้า
“เหตุผลที่ผมเข้ามาตรงนี้ ก็เพราะรู้สึกว่า ปัญหามันแรง คิดว่าน่าจะช่วยได้ ซึ่งก็มีบทเรียนระดับหนึ่งจากช่วงวิฤติปี 40 แต่ปัญหาต่างกันเยอะ ดังนั้นวิธีการจัดการก็ต้องต่างกันด้วย ครั้งนั้นเป็นเรื่องของธนาคารพาณิชย์ ไม่สามารถใช้กลไกของธนาคารแก้ปัญหาได้ แต่รอบนี้ธนาคารมีเสถียรภาพมาก ทุนสำรองต่อสินทรัพย์เสี่ยง(BIS Ratio) สูงถึง 19 เท่าสูงเป็นอันดับ 3 ในภูมิภาค จึงสามารถใช้กลไกธนาคารพาณิชย์ในการแก้ไขปัญหาได้”
อย่างช่วงที่เกิดวิฤติโควิด-19 แรกๆ เรามองว่า ปํญหาจะแรงและสั้น การแก้ปัญหาทั้งมาตรการการเงินและการคลังจึงจัดเต็มแบบเหมาเข่งและปูพรม ไม่ว่าจะเป็นการแจกเงิน หรือการพักชำระหนี้ แต่ตอนนี้เรารู้แล้วว่า มันแรงและยาว ดังนั้นการแก้ไขปัญหาก็จะไม่ใช่ปูพรม อย่างเมื่อพ้นวันที่ 22 ตุลาคม ที่มาตรการพักชำระหนี้เป็นการทั่วไปหมดลง เราให้ธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นคนใกล้ชิดลูกค้า เป็นคนพิจารณาเองว่า ลูกค้ารายใดสมควรที่จะยืดอายุหนี้ออกไปอีก หรือรายใดสมควรที่จะปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เพราะหากประกาศเป็นมาตรการทั่วไป ผลข้างเคียงจะเยอะกว่า จึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาแบบเหมาเข่งได้
ขณะนี้ผลกระทบหนักที่สุดคือภาคการท่องเที่ยว สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไป จากปีก่อนมี 40 ล้านคน ขณะนี้ชัดเจนทั้งปีจะไม่ถึง 8 ล้านคน หายไป 1 ใน 5 หรือลดลงถึง 80% ขณะที่รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติคิดเป็น 11-12% ของจีดีพี หากลดลง 80% ของสัดส่วน 11-12% หรือ จะทำให้จีดีพีของประเทสหายไปถึง 9.6% ถือว่าเป็นขนาดของหลุมที่หาย ใหญ่มาก
ดังนั้น หากจะต้องถมหลุมที่ใหญ่นี้ให้กลับมาเท่าเดิมได้ เราต้องเบ่งรายได้จากการท่องเที่ยวขึ้นอีกมาก เพราะรายได้จากการท่องเที่ยวปีก่อนอยู่ที่ 3 ล้านล้านบาท โดยมาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2 ล้านล้านบาท ซึ่งปีนี้หายไป 80% และนักท่องเที่ยวไทย 1 ล้านล้านบาท และถ้าหวังจะมาเบ่งรายได้จากนักท่องเที่ยวไทยก็คงทำได้ยาก ในภาวะที่รายได้ครัวเรือนลดลงเช่นนี้
ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติ 40 ล้านคน เข้ามาอยู่ไทยเฉลี่ย 9 วัน ใช้จ่ายประมาณ 50,000 บาทต่อทริป หากจะต้องทดแทนกับ 80% ที่ลดลง จะต้องเบ่งแค่ไหนให้กับมาเท่าเดิมได้ จะให้อยู่ไทยเพิ่มจาก 9 วันเป็น 20 วัน หรือค่าใช้จ่ายต้องเพิ่มขึ้น 2 เท่าคือ 2 แสนบาทต่อทริปจึงจะกลับไปเท่าเดิมได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยาก ขณะที่โอเวอร์ซพพลายท่องเที่ยวในระบบยังมีมหาศาล ยังมีเรื่องจ้างงาน ทั้งโรงแรม ร้านอาหารและค้าปลีก
ภาคการท่องเที่ยวจึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย เนื่องจากมีสัดส่วนการจ้างงานถึง 20% ของการจ้างงานไทย ขณะที่การส่งออก แม้ว่าจะฟื้นตัวขึ้น แต่หากประเมินจาก 3 อุตสาหกรรมหลักในการส่งออกคือ อิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งมีมูลค่า 50% ของการส่งออกรวม ยังมีการจ้างงานไม่ถึง 4% ของการจ้างงานทั้งหมด ดังนั้นกว่าที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวกลับมาในระดับเดียวกับก่อนที่จะเกิดโควิด-19 ต้องใช้เวลาถึง 2 ปีหรือในปี 2565
ดังนั้นการดำเนินนโยบายการเงิน ของธปท.จะต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แนวทางการดำเนินงานจะเป็นการพยุง ไม่ใช้กระตุ้น เพราะการจะอัดให้เต็มหลุมนั้นยาก จึงเป็นการประคับประคอง นโยบายของรัฐคือ ดูแลให้คนจับจ่ายใช้สอยได้ จึงอาจเป็นเหตุผลที่รัฐบาลเก็บวงเงินกู้ 4 แสนล้านบาทไว้ เพื่อตุนกระสุนไว้ในอนาคต เพราะยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก ที่เราช่วยได้คือ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เพื่อลดภาระรายย่อย และผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี)ให้พอไปได้ในภาวะที่รายได้ลดลง
"มาตรการที่จะออกมาจากนี้ ต้องเปลี่ยนจากเดิมที่เป็นปูพรม มาเป็นตรงจุด แยกแยะระหว่างคนที่ถูกกระทบ และต้องมีความยืดหยุ่น เพราะว่า สถานการณ์มีความไม่แน่นอนสูง จึงต้องออกมาตรการที่ยืดหยุ่น และต้องครบวงจร ต้องมองข้างหน้า ระยะ 2 ปี เพราะการแก้ปัญหาใช้เวลานาน และเครื่องมือที่จะรองรับ 2 ปีหน้ามีอะไรบ้าง โจทย์ไม่ใช่แค่การพักชำระหนี้ แต่หลังจากนั้นต้องทำอย่างไรให้กระบวนการปรับโครงสร้างมันดี และต้องดูว่าเมื่อปรับโครงสร้างหนี้ ท้ายที่สุดจะต้องมีหนี้เสีย เราจะจัดการกับส่วนนี้อย่างไร"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ผู้ว่าธปท.ชี้ “ไบเดน” ชนะเลือกตั้ง ดีต่อตลาดเงิน
ธปท. เร่งอนุมัติซอฟต์โลนแล้วกว่า 1.2แสนล้านบาทช่วยลูกหนี้กว่า 7.17หมื่นราย
ธปท.จับตา 5 ปัจจัยเสี่ยงชี้ทิศเศรษฐกิจไทย
ธปท.-แบงก์ เดินหน้าช่วยลูกหนี้ ดึงบสย. ค้ำประกันซอฟต์โลนเพิ่มเติม