ธปท.แจง 4เงื่อนไขแบงก์จ่ายปันผลปี63ได้บางส่วน “มีเงินกองทุนสภาพคล่องเพียงพอ –ทยอยตั้งสำรองเพิ่มช่วยรักษาเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน-สอดคล้องกับแนวทางกำกับของต่างประเทศ” แต่ยังห้ามซื้อหุ้นคืน
ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ได้มีนโยบายให้ธนาคารพาณิชย์จัดทำแผนบริหารเงินกองทุนและประเมินภาวะวิกฤติหรือ Stress Test สำหรับระยะเวลา 3ปีตั้งแต่ปี 2563-2565 โดยให้คำนึงถึงแนวโน้มเศรษฐกิจและศักยภาพของลูกหนี้ เพื่อนำเสนอต่อธปท.ภายในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เนื่องจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะเดียวกันธปท.ได้ขอให้งดจ่ายปันผลระหว่างกาลจากผลดำเนินงานในปี2563และห้ามซื้อหุ้นคืน ทั้งนี้เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์รักษาความเพียงพอของระดับเงินกองทุนให้มีความแข็งแกร่งและรองรับการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง
นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2563 โดย ระบุว่า ที่ประชุมของคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน(กนส.)มีมติ เห็นชอบต่อเรื่องจ่ายปันผลประจำปี2563 ของสถาบันการเงิน ซึ่งแนวนโยบายการจ่ายเงินปันผลได้แต่ต้องไม่เกินผลการดำเนินงานของปี2562 และไม่เกิน 50%ของกำไรสุทธิปี2563
สำหรับ 4เหตุผลหลักให้จ่ายปันผลปี2563ได้บางส่วนนั้น ได้แก่ 1. สถาบันการเงินมีเงินกองทุนและเงินสำรองเพียงพอรองรับสถานการณ์เลวร้ายภายใต้ผลทดสอบภาวะวิกฤติ(Stress Test) ซึ่งเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สองสถาบันการเงินได้เพิ่มความระมัดระวังด้วยการทยอยตั้งสำรองและสะสมเงินกองทุนมาตลอดปัจจุบันจะเห็นอัตราเงินสำรองสูงถึง 1.5เท่า ของสินเชื่อด้อยคุณภาพ ขณะเดียวกันมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง(BIS Ratio)ที่ 18.9%เมื่อไตรมาส3ของปีนี้ 3.แนวนโยบายดังกล่าวช่วยรักษาเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินให้มีความเข้มแข็งมีกันชนพร้อมจะรองรับความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้น ที่สำคัญสถาบันการเงินพร้อมจะเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายหลังจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด –9คลี่คลายลง และยังเป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้น ผู้ฝากเงินและลูกหนี้ของสถาบันการเงินระยะยาวรวมถึงระบบเศรษฐกิจโดยรวม และสุดท้ายนโยบายดังกล่าวนี้ยังสอดรับกับแนวทางกำกับดูแลสถาบันการเงินของผู้กำกับตรวจสอบในต่างประเทศหลายแห่งด้วย
“ขอย้ำว่า แนวนโยบายที่กำหนดการจ่ายเงินปันผลลักษณะเช่นนี้จะทำให้ระบบมีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะระดับของเงินกองทุนที่ยังอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญยังสามารถเป็นกลไกสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหรือการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ฝากเงิน ลูกหนี้ ผู้ถือหุ้น และผู้ลงทุนในระยะยาว ส่วนผลการทดสอบภาวะวิกฤตินั้นได้รวมอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจ ปัจจัยการแพร่ระบาดของโควิดและการเมืองแล้วด้วย เพราะถ้าสถานการณ์เปลี่ยนสมมติฐานก็จะเปลี่ยนไปรวมถึงการพิจารณาจ่ายปันผลปีต่อไปและยังห้ามซื้อหุ้นคืนอยู่”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการกำกับสถาบันการเงิน ธปท.กล่าวว่า ธปท.อนุญาตให้สถาบันการเงินจ่ายปันผลได้ ภายใต้ 2เงื่อนไขคือ ไม่เกินอัตราการจ่ายในปี 2562 เช่น ถ้าธนาคารมีกำไรปี2562 จำนวน 100ล้านบาท โดยเคยจ่ายปันผลที่ 30%ของกำไร 100ล้านบาท คือ 30ล้านบาท แต่ข้อกำหนดที่สองทั้งหมดที่จ่ายปันผลนั้นจะต้องไม่เกิน 50%ของกำไรสุทธิในปี 2563 เช่น ปี2563 ธนาคารมีกำไร 80ล้านบาทธนาคารสามารถจ่ายปันผลในอัตราเท่าเดิมที่ 30% คือ 24ล้านบาท แต่จะต้องไม่เกิน 50%ของกำไรสุทธิปี2563 คือจะต้องไม่เกิน 40ล้านบาท
ส่วนเหตุผล 4ข้อหลักคือ 1. ผลจากการทำStress Test (ธปท.ออกหนังสือเวียนเมื่อวันที่ 18มิถุนายน 2563)เพื่อเช็คสุขภาพของธนาคารในอนาคตพบว่า สถาบันการเงินไทยมีความเข้มแข็งสามารถรองรับสถานการที่มีความไม่แน่นอนสูงอยู่ได้
2. ผลตรวจเช็คสถานะปัจจุบันของธนาคาร จะชี้แจงในรายละเอียดวันที่ 16พฤศจิกายน 2563 แต่เบื้องต้นเมื่อพิจารณาข้อมูล ณ ไตรมาส3สิ้นเดือนกันยายนที่ผ่านมาพบว่า ปัจจัยเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 19.8%สูงกว่าเมื่อไตรมาส 2อยู่ที่ 19.2% สาเหตุที่สูงขึ้นเนื่องจากมีการสะสมเงินกองทุนเพิ่มเติมทั้งจากกำไร จากการดำเนินงานในงวดครึ่งปี 2562 ที่ธปท.ห้ามจ่ายปันผลระหว่างกาล ทางธนาคารได้นำกลับมาเป็นกำไรสะสมและนับเป็นเงินกองทุนได้ ขณะเดียวกันช่วงที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์บางแห่งเริ่มออกตราสารที่นับเป็นเงินกองทุนเพิ่มเติม เพื่อรองรับกับสภาวะที่ยังไม่แน่นอนในอนาคตที่ยังสูงอยู่ ,ส่วนอัตรา เงินสำรองที่มีอยู่ต่อเอ็นพีแอล(NPLs Coverate Ratio) อยู่ที่ 149.7%ซึ่งสูงกว่าไตรมาสสองอยู่ที่ 143.9% สะท้อนว่าถ้าธนาคารพาณิชย์มีเอ็นพีแอลมูลค่า 100บาท ธนาคารแห่งนี้มีเงินสำรองต่อเอ็นพีแอล 150บาท ทั้งนี้ การที่เงินสำรองของธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการบริหารอย่างระมัดระวังและกันสำรองสินเชื่ออยู่ในระดับที่สูงอย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมรองรับคุณภาพสินเชื่อที่อาจจะด้อยลงจากเหตุการณ์โควิด-19
3. ด้านสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ หากเกิดเหตุขึ้นธนาคารพาณิชย์สามารถมีสินทรัพย์สภาพคล่องที่สามารถแปลงเป็นเงินสดสภาพคล่องเพื่อใช้ได้ เห็นได้จากอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤติ(LCR)ซึ่งธปท.กำหนดเกณฑ์LCRอยู่ที่ 100% คือ ธนาคารพาณิชย์ต้องมีสินทรัพย์สภาพคล่องเป็น 100%ของกระแสเงินสดที่คาดว่าจะไหลออกในภาวะวิกฤติล่วงหน้าภายใน 30วัน โดยปัจจุบันธนาคารมีตัวเลข LCRสูงถึง 184.9 %แสดงว่า กระแสเงินสดที่ประมาณว่าจะไหลออก 100%แต่ธนาคารพาณิชย์มีสินทรัพย์สภาพคล่อง เกือบ 185% ถือว่าสินทรัพย์สภาพคล่องอยู่ในระดับสูง และ อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก(L/D Ratio) ค่อนข้างทรงตัวอยู่ในระดับ 93%เนื่องจากทั้งปริมาณเงินฝากและสินเชื่อยังทรงตัวอยู่
อย่างไรก็ตาม เมื่อศึกษาแนวปฎิบัติจากธนาคารกลางต่างประเทศ นางสาวสุวรรณี ระบุว่า พบว่า กลุ่มในประเทศอังกฤษ นิวซีแลนด์ ยุโรปยังคงกำหนดให้สถาบันการเงินงดจ่ายปันผลทั้งจำนวน สำหรับผลประกอบการในปี 2563 ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่ยังมีความเข้มงวดในการดำเนินการอยู่ ,สำหรับสหรัฐมีการจำกัดบางส่วนโดยกำหนดให้จ่ายปันผลไม่เกินค่าเฉลี่ยของกำไรในไตรมาสที่ผ่านมา และแคนาดาจ่ายปันผลได้ไม่เกินจำนวนเงินที่จ่ายในปี2562 และกลุ่มประเทศที่ยังเข้มงวดได้แก่ สิงคโปร์จ่ายปันผลไม่เกิน 60%ของเงินปันผลต่อหุ้นของปี2562 คือ ถ้าปี2562จ่ายที่ 5บาทต่อหุ้น ในปี 2563จ่ายปันผลได้ไม่เกินหุ้นละ 5บาทซึ่งเท่ากับ 3บาท เท่านั้น และออสเตรเลียจ่ายปันผลได้ไม่เกิน 50%ของกำไรสุทธิในปี 2563 และยังมีกลุ่มประเทศที่ยังไม่กำหนดนโยบายจ่ายปันผล เช่น มาเลเซีย เกาหลีใต้
“ครั้งนี้ที่เราให้แบงก์จ่ายปันผลได้เพราะเราเช็คสุขภาพแบงก์แล้วจากStress Test ว่า แบงก์มีเงินกองทุน, สภาพคล่องเพียงพอทั้งปัจจุบันและอนาคต,ด้านลูกหนี้ ผู้ฝากเงิน ผู้ลงทุนรวมถึงสถาบันการเงิน แต่ต้องยอมรับเรื่องโควิดมีความไม่แน่นอนสูง ยังเป็นเรื่องระยะยาวดังนั้นการจำกัดจ่ายปันผลเพื่อให้แบงก์ยังมีสถานะที่พอจะช่วยแก้ไขปัญหาของลูกหนี้ไปในอนาคต”