นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังลงนามสัญญาความร่วมมือทางด้านการเงิน ระหว่างกระทรวงการคลังและธนาคารพัฒนาเอเชีย ในโครงการ COVID-19 Active Response and Expenditure Support Program ว่า การกู้ดังกล่าว เพื่อนำไปใช้ในโครงการแผนงานภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.)ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 มูลค่า 1 ล้านล้านบาท ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนของหนี้รัฐบาลที่เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศยังอยู่ในระดับที่ต่ำ จึงถือเป็นทางเลือกที่ดี ขณะเดียวกันภาครัฐยังต้องการเหลือสภาพคล่องในประเทศ เพื่อให้กับภาคเอกชนใช้ในการขยายธุรกิจในอนาคตด้วย
ทั้งนี้กระทรวงการคลังยืนยันว่าวงเงินกู้ตามพ.ร.ก.1 ล้านล้านบาท ยังมีเพียงพอในการดูแลประชาชนและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องขยายกรอบการกู้เพิ่มจากปัจจุบันที่มีอยู่แน่นอน
ด้านนางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) กล่าวว่า ขณะนี้สบน.ได้ทำการกู้เงินภายใต้กรอบเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ไปแล้ว 3.38 แสนล้านบาท หรือประมาณ 3.4% ซึ่งเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ส่วนจะมีการกู้ต่างประเทศเพิ่มหรือไม่นั้น จะต้องดูความจำเป็นในการใช้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ก่อนว่าเป็นอย่างไร ซึ่งการกู้ต่างประเทศก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ
สำหรับแผนการกู้จาก ADB นั้น ครม.ได้อนุมัติให้กระทรวงการคลังกู้เงินในนามรัฐบาลไทย จาก ADB วงเงิน 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 48,000 ล้านบาท โดยมีอัตราดอกเบี้ยการกู้ที่อ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมระหว่างธนาคารของตลาดลอนดอน (LIBOR) ระยะเวลา 6 เดือน บวกด้วยส่วนต่าง 0.50% ต่อปี โดยชำระดอกเบี้ยของวงเงินกู้คงค้างทุก 6 เดือน คือ วันที่ 15 ก.พ. และวันที่ 15 ส.ค.