รมว.คลัง เชื่อจีดีพีปีนี้ ติดลบน้อยกว่า 7.7%

16 พ.ย. 2563 | 04:38 น.
อัปเดตล่าสุด :16 พ.ย. 2563 | 12:03 น.

รมว.คลัง เชื่อจีดีพีปีนี้ ติดลบน้อยกว่า 7.7% ส่วนปีหน้าโต 4% ได้ แนะบริหารค่าเงิน ช่วงบาทแข็ง

               นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงกรณีที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้ติดลบ 6% ดีขึ้นกว่าที่คาดการณ์เดิม ว่า สศช.ประกาศตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 ออกมาแล้ว พบว่าดีกว่าไตรมาสที่  2 ซึ่งก็เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ แม้ว่าจะยังติดลบอยู่ แต่หากเทียบการเติบโตระหว่างไตรมาสที่ 2 และ 3 จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจกลับมาเป็นบวกได้ สะท้อนว่าเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเศรษฐกิจภายในกำลังฟื้นตัวขึ้น

               ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการใช้จ่ายของประชาชนดีขึ้น โดยหากเทียบไตรมาสที่ 3 กับไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมา การใช้จ่ายของประชาชนกลับมาเป็นบวกได้ถึง 6.3% และติดลบน้อยมากเพียง 0.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยยังคงมีพื้นฐานดี แข็งแกร่ง ดังนั้นจึงคาดว่าไตรมาสที่ 4 จะดีขึ้นกว่าไตรมาสที่  3 อีกแน่นอน

               ดังนั้นจึงเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะติดลบน้อยกว่าที่กระทรวงการคลังคาดการณ์ที่ติดลบ 7.7% เช่นเดียวกับการคาดการณ์ของสศช.ที่คาดการณ์ว่าจะติดลบ 6% ดีขึ้นกว่าคาดการณ์เดิมที่ติดลบ 7.5% ซึ่งทำให้มั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะขยายตัวเป็นบวกที่ 4% ได้

             ส่วนกรณีที่กรณีค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในช่วงนี้ ได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เชื่อว่าจะมีหลายมาตรการมาดูแล โดยสาเหตุที่เงินบาทแข็งค่านั้น เป็นเพราะช่วงนี้ตลาดหุ้นของไทยดี ส่วนหนึ่งเพราะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่ผ่านไปด้วยดี และ พื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ต่างชาติยังให้ความเชื่อมั่นเรื่องของเศรษฐกิจของไทย ทำให้ต่างชาตินำเงินเข้ามาลงทุนในไทย

             อย่างไรก็ตามการดูแลค่าเงินบาทนั้น นโยบายการเงินและนโยบายการคลังจะต้องทำงานประสานกัน โดยในส่วนของนโยบายการคลังนั้น นอกจากจะมีเรื่องของการนำเข้าสินค้าในช่วงที่เงินบาทแข็งค่าแล้ว ยังมีเรื่องของการชำระหนี้ต่างประเทศ เพื่อจ่ายเงินดอลลาร์สหรัฐออกไป และการเบิกเงินกู้ต่างประเทศที่จะต้องทยอยเบิก ซึ่งจะช่วยผ่อนคลายได้ แต่ สิ่งที่ต้องระวังในเรื่องของเงินทุนที่ไหลเข้ามา คือ เรื่องของการเก็งกำไร ฉะนั้นจะต้องบริหารจัดการให้เหมาะสม