นายกุลเวช เจนวัฒนวิทย์ กรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) เปิดเผยว่า ผลการสำรวจคะแนน CGR ในปีนี้ บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทยมีผลการสำรวจที่ดีขึ้น โดยมีคะแนนเฉลี่ยสูงสุดในรอบ 20 ปีตั้งแต่มีการทำการประเมิน สะท้อนถึงมาตรฐานการทำงานที่สูงขึ้นของบริษัทจดทะเบียนและความร่วมมือในการขับเคลื่อนการกำกับดูแลกิจการเพื่อยกระดับการพัฒนา CG ในประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับความคาดหวังของนักลงทุน โดยเฉพาะการที่บริษัทจดทะเบียนให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) ที่เพิ่มขึ้น ถือเป็นแนวโน้มที่ดีในการกำกับดูแลกิจการเพื่อช่วยให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ หากพิจารณาคะแนนเฉลี่ยรายหมวดของผลสำรวจในปี 2563 พบว่าหมวดที่ได้รับคะแนนเฉลี่ยตั้งแต่80% ขึ้นไปมี 4 หมวด ได้แก่ หมวดสิทธิของผู้ถือหุ้น การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส และการคำนึงถึงบทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งมีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 94%, 94%, 87% และ 83% ตามลำดับ ส่วนหมวดความรับผิดชอบของคณะกรรมการ แม้จะยังได้รับคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่76% แต่มีพัฒนาการที่ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่ดี
จากผลการสำรวจ ยังพบว่ามีบริษัทจดทะเบียนที่มีคะแนนเฉลี่ยตั้งแต่ 80% หรือได้สี่ดาวขึ้นไปรวม 486 บริษัท โดยแบ่งเป็นบริษัทที่ได้รับคะแนน 80%-89% (สี่ดาว) 246 บริษัท คิดเป็น 36% และบริษัทที่ได้รับคะแนน 90 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป (ห้าดาว) 240 บริษัท คิดเป็น 35% ของบริษัทที่ทำการสำรวจ ทั้งนี้ บริษัทจดทะเบียนที่ได้ห้าดาว เพิ่มขึ้นจาก 193 บริษัท ในปี 2562 เป็น 240 บริษัท ในปี 2563 เพิ่มขึ้น 47 บริษัท คิดเป็น 25%
นายกฤษฎา เสกตระกูล รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า กระแสการลงทุนของโลกให้ความสนใจสำคัญกับบริษัทที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนมากขึ้น เห็นได้จากปัจจุบัน ตลาดทุนไทยมีจำนวนกองทุน ESG มากถึง 29 กองทุน คิดเป็นมูลค่าสินทรัพย์สุทธิภายใต้การบริหาร (AUM) ประมาณ26,000 ล้านบาท ในขณะที่กองทุน ESG ทั่วโลกมีมูลค่า AUM รวมเกือบ 30 ล้านล้านดอลล่าร์ ดังนั้นการส่งเสริมบริษัทจดทะเบียนให้ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน จึงเป็นหนึ่งในภารกิจการพัฒนาตลาดทุนให้เป็นประโยชน์แก่ทุกภาคส่วน