นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต.ในฐานะผู้กำกับดูและตลาดทุนได้ให้ความสำคัญกับธรรมาภิบาล (CG) และขยายมาเป็นการให้ความสำคัญกับการคำนึงถึงสังคม สิ่งแวดล้อม และบรรษัทภิบาล (ESG) เพื่อตอบโจทย์กับสังคมในยุคปัจจุบันรวมถึงอนาคตต่อไป ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในตลาดทุน เพราะเป็นเป้าหมายหลักสำคัญที่ต้องพัฒนาตลาดทุนไปสู่ความยั่งยืน และตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ
อย่างไรก็ตาม ในระดับอาเซียนได้วางโรดแมป 4 ด้าน คือ การเปิดเผยข้อมูล, การเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เอกชนมีส่วนขับเคลื่อน เช่น บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ออกกองทุน ESG Fund, การสร้างความตระหนักรู้ โดยจัดอบรมความรู้ความเข้าใจร่วมกัน เพื่อให้นักลงทุนรายย่อยมองส่วนนี้ว่าเป็นผลกำไรและนำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน และความเชื่อมโยงการดำเนินการร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน
ขณะที่ ภาพรวมที่ก.ล.ต.มอง ESG มี 6 ด้านได้แก่ 1.ผลิตภัณฑ์ เช่น Sustainable Finance ที่ได้รับการตอบรับอย่างมาก โดยมีการออกกรีนบอนด์, Social Impact Bond ปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่ออกแล้วจำนวน 12 แห่ง มูลค่ารวม 100,000 ล้านบาท ซึ่งทางสำนักงานบริหารหนี้ (สบน.) ได้ออก Sustainable Bond รวมถึงธนาคารอาคารสงเคราะห์ และการเคหะแห่งชาติ ที่ออก Social Impact Bond นอกจากนี้ ภาคเอกชนยังมีการออกอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ก.ล.ต.ได้ยกเว้นค่าธรรมเนียมการออกบอนด์ดังกล่าวไปจนถึงปีหน้า และหากเป็นสิ่งจำเป็น อาจจะพิจารณายกเว้นถาวร แต่ขณะนี้ขอพิจารณาเป็นรายปีก่อน
ขณะเดียวกัน 2.จะการเพิ่ม Local Reviewer รายที่ 2 หลังจากที่ปัจจุบันมีทริสเรทติ้งเพียงแห่งเดียว 3. จะGuideline ให้บลจ.ที่จะออกผลิตภัณฑ์ที่เข้าถึงนักลงทุนรายย่อย 4.Bulletin Platform เพื่อให้มี platform เปรียบเทียบข้อมูลให้ง่าย ซึ่งสมาคมตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ได้ทำอยู่แล้ว และ 5.One Report โดยก.ล.ต. ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ให้บจ.เปิดเผยข้อมูลที่เปรียบเทียบได้ชัดเจนให้กับนักลงทุน ทั้งนี้ หลายบริษัทใหญ่ได้เริ่มดำเนินการก่อนที่จะมีผลบังคับในวันที่ 1 มกราคม 2565 และ6.การให้ความสำคัญกับนักลงทุนรายย่อย ด้วยการกำหนดให้ผู้แนะนำการลงทุนอบรมเรื่อง ESG ด้วย
ด้านนายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลท. กล่าวว่า ตลาดทุนไทยได้รับบทเรียนในอดีตหลังจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ปัญหาใหญ่คือต้องการที่จะระดมทุน แต่นักลงทุนสถาบันต่างประเทศไม่มีใครเชื่อถือข้อมูล ส่งผลให้มีการจัดตั้งสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) จากนั้นพัฒนามาให้ความสำคัญธรรมาภิบาล (CG) และเริ่มพัฒนา CSR บจ. แต่การทำ CSR นั้น มองว่าไม่ได้ประโยชน์จึงเริ่มสนใจเรื่อง ESG โดยวางหลักเกณฑ์เรื่องการเปิดเผยข้อมูล การตระหนักรู้ และให้เปิดเผยข้อมูลตาม Format ที่จะทำให้เกิดประโยชน์
ทั้งนี้ ยังร่วมมือกับสถาบันการจัดอันดับเครดิตอีก 2 ราย เพื่อนำข้อมูลเกี่ยวกับ ESG มาวิเคราะห์และคำนวณ ESGว่ามีมูลค่าเพิ่มอย่างไร จากนั้นนำมาลงใน platform ผ่านเว็บไซด์ของตลท. ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมีความหมายมากขึ้น เพราะข้อมูล ESG สามารถจับต้องได้ อีกทั้งยังขอความร่วมมือจากบจ.ไทยให้รายงานข้อมูลเกี่ยวกับ ESG ตามมาตรฐานที่มี format เพื่อให้สามารถประเมินได้ง่าย และเป็นประโยชน์ต่อบจ.