กรุงศรี คาดการเมือง ทุบจีดีพีร่วง 0.6-1.1%

25 พ.ย. 2563 | 08:41 น.

วิจัยกรุงศรี คาดการณ์จีดีพี ปี 63 ติดลบ 6.4% ดีกว่าที่ประเมินไว้ ส่วนปีหน้าจะกลับมาเป็นบวก 3.3% แนะเชื่อมความสัมพันธ์ RCEP มอง 10ปี หนุน จีดีพีไทยโต 2.4%

นายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า  จากสัญญาณเครื่องชี้เศรษฐกิจไตรมาส 3 ที่เริ่มปรับตัวดีกว่าที่คาดไว้  ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายของภาครัฐที่เร่งตัวขึ้น  หรือการส่งออกสินค้าที่ดีกว่าคาด ทำให้วิจัยกรุงศรีได้ปรับเพิ่มคาดการณ์จีดีพีปี 63 ติดลบ 6.4% ซึ่งติดลบลดลงจากเดิมคาดไว้ที่ -10.3% และคาดอัตราการเติบโตปี 2564 ที่ 3.3% 

 

"เศรษฐกิจไทยแม้จะฟื้นแต่รอบนี้จะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยจะเห็นจีดีพีเป็นบวกในไตรมาส 2 ปีหน้า ซึ่งการลงทุนภาครัฐจะเป็นตัวขับเคลื่อนการลงทุนเอกชนและการบริโภคในประเทศและจากอุปสงค์ภายนอกต่างประเทศมากกว่าในประเทศ  ซึ่งธีมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีหน้าภาคการส่งออกสินค้าจะเป็น Growth Enginge ซึ่งเป็นการขยายตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก"

กรุงศรี คาดการเมือง ทุบจีดีพีร่วง 0.6-1.1%
สำหรับปีนี้คาดว่าการส่งออกจะติดลบ 7.5% และปีหน้าจะขยับเป็นบวก 4.5% เพราะแนวโน้มความต้องการจากต่างประเทศที่มากขึ้น โดยการลงทุนภาคเอกชนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกจะค่อยๆฟื้นตัว  ซึ่งจะช่วยสนับสนุนภาคส่งออกและภาคการผลิตของประเทศในระยะปานกลาง โดยเฉพาะจากภูมิภาคอาเซียนที่กำลังขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและแนวโน้มการพึ่งพากันภายในภูมิภาคมากขึ้น  (Regionlization)
 

นายสมประวิณ กล่าวเพิ่มเติมว่า ไทยควรจะเจรจาและเชื่อมโยงการลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนในอาเซียน  การประสานความร่วมมือภายใต้ RCEP จะเป็นโอกาสของไทยและเป็น กุญแจสำคัญในระยะยาว 10ปีข้างหน้า  เพราะ RCEP จะเชื่อมโยงทั้งการค้าและห่วงโซ่อุปทานการผลิต หรือซัพพลายเชน ซึ่งผลวิจัยระบุว่าไทยเป็นประเทศอันดับต้นๆ ที่ได้ประโยชน์จาก RCEP เนื่องจากไทยอยู่ตรงกลางห่วงโซ่การผลิต โดยประเมินว่า RCEP จะสร้างการเติบโตต่อจีดีพีประมาณ 2.4% ในอีก 10 ปีข้างหน้า 

 

ที่สำคัญ RCEP ไม่ใช่เป็นการเชื่อมโยงตลาดเพียงอย่างเดียว แต่ RCEP จะช่วยในการปรับกระบวนการภายในประเทศ โครงสร้างพื้นฐานด้านกฎหมาย กฎระเบียบ และมาตรฐาน (Soft Infrastructure)หรือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านกฎหมาย กฎระเบียบ และมาตรฐานต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับนักลงทุน เพราะปัจจุบันไทยได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล (Hard Infrastructure) ทั้งด้านโทรคมนาคมที่พร้อมแล้ว

 

ต่อข้อถามปัจจัยทางการเมือง นายสมประวิณ กล่าวว่า ธนาคารได้รวมปัจจัยนี้ในตัวเลขคาดการณ์จีดีพีแล้ว  ซึ่งในภาวะที่เศรษฐกิจไม่ดีต้องมีกลไกภาครัฐที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ  ส่วนปัจจัยทางการเมืองนั้นอาจจะดึงการเติบโตของจีดีพีลงประมาณ 0.6-1.1% จากที่ประเมินไว้    


อย่างไรก็ตามหากย้อนดูเหตุการณ์ช่วงที่มีความวุ่นวายทางการเมืองที่ผ่านมาพบว่าจะกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว และการลงทุน แต่ปีนี้การท่องเที่ยวไม่น่าจะดีอยู่แล้ว แต่ผลกระทบต่อการลงทุนจะส่งผลกระทบระยะยาวเพราะเป็นเรื่องความเชื่อมั่นที่มีผลต่อการลงทุนระยะยาว
 

ส่วนแนวโน้มภาคการท่องเที่ยว คาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2564 อยู่ที่ 4 ล้านคน จากปีนี้อยู่ที่ 6.7 ล้านคน ส่วนหนึ่งมาจากมีจำนวนนักท่องเที่ยวมาไตรมาสที่ 1 แต่ในปีหน้ายังไม่มี และคาดว่าวัคซีนจะเกิดขึ้นได้ในกลางปีหน้า และยังต้องใช้เวลาในการแจกจ่ายทั่วถึง รวมถึงการเปิดรับนักท่องเที่ยวยังต้องใช้เวลา

 
ดังนั้นมาตรการและความช่วยเหลือยังมีความสำคัญอยู่โดยเฉพาะความต้องการใน 4 ประการได้แก่ 1.การปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้กลไกระบบการเงินขับเคลื่อนได้  2.การให้สภาพคล่องในระบบซึ่งผู้ประกอบการที่กลับมาเริ่มธุรกิจยังไม่มีรายได้ จึงต้องการสภาพคล่องช่วงเริ่มกลับมาเปิดกิจการ


3.มาตรการจูงใจให้เกิดการจ้างงาน ในระบบเพื่อให้มีกำลังซื้อและช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจให้หมุนได้ และ 4.มาตรการกระตุ้นทั้งแคมเปญและโครงการท่องเที่ยว ซึ่งอาจจะทำในรูปแบบหักลดหย่อนภาษี หรืออื่นๆ ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อประมาณ 30% ของครัวเรือน และมีสัดส่วนของการใช้จ่ายกว่า 57% ของรายจ่ายทั้งหมด