กูรู สุดทนโต้กลับข้อหา "คนละครึ่ง" แย่งกันเหมือนขอทานจากรัฐบาล

17 ธ.ค. 2563 | 02:22 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ธ.ค. 2563 | 12:20 น.

"สมคิด จิรานันตรัตน์" ผู้อยู่เบื้องหลังแพลตฟอร์ม "คนละครึ่ง" ไขคำตอบการเปิดให้ประชนลงทะเบียนโครงการ แย่งกันเหมือนขอทานจากรัฐบาล เป็นคำพูดที่เสียดแทงใจ ทำให้โครงการที่ได้ประโยชน์ถูกมองเป็นลบ จี้คนตั้งคำถามเสนอแนวทางพัฒนาโครงการดีๆแบบรูปธรรม ไม่ให้เงินรั่วไหลให้นักการเมือง

นายสมคิด จิรานันตรัตน์ ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ผู้อยู่เบื้องหลังการจัดทำแพลตฟอร์ม "เราไม่ทิ้งกัน - ชิม ช้อป ใช้ - ไทยชนะ - คนละครึ่ง" โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Chao Jiranuntarat เพื่อตอบข้อกังขากรณีมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า การเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนโครงการคนละครึ่ง เหมือนการแย่งกันเหมือนขอทานจากรัฐบาล ใจความว่า

 

ปุจฉา: “#คนละครึ่ง ควรเป็นสิทธิที่รัฐบาลให้ประชาชน ไม่ใช่ให้ประชาชนแย่งกันเหมือนขอทานจากรัฐบาล”

 

วิสัชนา: สิทธิ์คนจน รัฐควรให้ทุกคนที่เข้าข่าย สวัสดิการของรัฐ รัฐควรให้ขั้นต่ำ แต่คนละครึ่งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ร้านเล็กๆ ไม่ให้ ร้านใหญ่เข้าร่วม และทุกร้านที่เข้าร่วมไม่ได้จำกัดจำนวน แต่คนที่จะได้สิทธิ์คนละครึ่งก็มีงบประมาณจำกัด ต้องหาวิธีที่ต้องมีคนต้องการและได้สิทธิ์นั้น คนที่ได้สิทธิ์ทางอื่นอยู่แล้วก็ไม่ควรได้ 

การลงทะเบียนอาจไม่เป็นธรรมกับบางคน แต่ก็เป็นวิธีที่กระจายมากที่สุด มีคนทุกวัยทุกท้องที่กระจายกันอยู่ ในอนาคตเมื่อรัฐมีข้อมูลของประชาชนถูกต้องมากขึ้น ก็อาจมีวิธีการที่กระจายได้ดีกว่านี้ แต่การพูดว่าแย่งกันเหมือนขอทานจากรัฐบาลเป็นคำพูดที่เสียดแทงใจและเป็นการทำให้โครงการที่ได้ประโยชน์แบบนี้ถูกมองเป็นลบมากขึ้น

การลงทะเบียนที่ผ่านมามีปัญหาเรื่อง การส่ง sms ซึ่งรู้ว่าเป็นข้อจำกัด ในอนาคตอาจไม่ต้องมี แต่การบอกว่า net ไม่ดี เสียเปรียบ คนจนเสียเปรียบ ก็ต้องลองไปดูว่าคนลงทะเบียนได้เป็นคนประเภทไหนบ้าง คนรวยลงได้มากกว่าจริงหรือ การที่จะพัฒนาโครงการดีๆ แบบนี้ ไม่รั่วไหลให้นักการเมือง ไม่ใช่ว่าจะทำได้ง่ายๆในบ้านเรา ไม่เข้าใจว่าคนที่คิดว่า แย่งกันเหมือนขอทานมีความคิดอย่างไร และหากงบรัฐมีจำกัด มีข้อเสนอแนะอย่างไรที่เป็นธรรมและกระจายได้มากที่สุด

ที่มา: facebook Chao Jiranuntarat