ศูนย์วิจัยกรุงไทยปรับคาดการณ์จีดีพีปีนี้โต 2.5%พ้นภาวะถดถอยจากปีก่อนหดตัว 6.5% แต่หากขยายระยะเวลาคุมเข้มเพิ่มจาก 2-3เดือนอาจกระทบกำลังซื้อภายในประเทศ 2.5แสนล้านบาทคาดจีดีพีโต 2.00%จับตาสถานการณ์โควิดรอบสองและแรงขับเคลื่อนจากรัฐทั้งมาตรการเยียวยาและ เตือนภาคธุรกิจไทยเผชิญกติกาการค้าเสรี-ปัจจัยสิ่งแวดล้อมและเมกกะเทรนด์ของโลก
นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย (จีดีพี)ปีนี้จะเติบโต 2.5% จากก่อนหน้าคาดไว้ที่ระดับ 2.6%(เมื่อเดือนพ.ย.2563) ซึ่งพ้นจากภาวะถดถอยในปีก่อนเศรษฐกิจหดตัว 6.5% บนสมมติฐาน คือ หากทางการคุมเข้มสถานการณ์เป็นเวลา 3เดือน(ม.ค.-มี.ค.) จำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศหายไป 22ล้านคนคิดเป็นมูลค่ารายได้ที่หายไปราว 1.1แสนล้านบาท โดยคาดจำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศจะอยู่ที่ 109.6 ล้านคน-ครั้ง ต่ำลงกว่าประมาณการเดิมที่ 131.8 ล้านคน-ครั้ง และมาตรการเยียวยาโควิดรอบสองของภาครัฐที่ออกมาจะมีส่วนช่วยในการลดผลกระทบ ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศยังมีความไม่แน่นอนสูงซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะต่ำกว่า 1ล้านคนจากที่คาดไว้ 4.4ล้านคน โดยประเมินจำนวนนักท่องเที่ยวจะกลับมาปกติในเดือนพฤษภาคม 2564
“สถานการณ์ปัจจุบันคนยังติดเชื่อหลักร้อยคน หากมีมาตรการคุมเข้ม 2- 3เดือนจำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศจะอยู่ที่ 109.6 และกระทบกำลังซื้อในประเทศ 1.6แสนล้านบาท เรามองจีดีพีเติบโตได้ 2.5% แต่หากมีมาตรการเข้มไออีกเดือน จะกระทบกำลังซื้อในประเทศราวม 2.5แสนล้านบาททำให้จีดีพีเติบโต 2.00% ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการแพร่ระบาดของโควิดและแรงขับเคลื่อนเยียวยาของภาครัฐที่จะออกมาเพิ่มเติม”
ในแง่ของผู้ประกอบการนั้นยังต้องเผชิญความท้าทายทั้ง เมกกะเทรนด์ของโลก(Megatrend ของโลก) ซึ่งถ้าปรับตัวได้เร็ว และเข้าใจบริบทใหม่ของโลกจะมีโอกาสเติบโค นอกจากนี้ยังมี ปัจจัยลบจากภัยแล้งและเงินบาทแข็งค่ารวมทั้งค่าขนส่งในการส่งออกที่จะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยในปีนี้
นายมานะ นิมิตรวานิช ผู้อำนวยการฝ่าย ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวเพิ่มเติมว่า ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ภาคธุรกิจยังต้องเผชิญกับบริบทการเปลี่ยนแปลงที่เป็น Megatrend ของโลก เช่น กระแสการปรับเปลี่ยนรูปแบบเศรษฐกิจครั้งใหญ่ หรือ The Great Reset ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ภายใต้บริบทของความยั่งยืนบนพื้นฐานของการพัฒนาที่มีความ Greener, Smarter และ Fairer นอกจากนี้ ยังต้องจับตาท่าทีความร่วมมือระหว่างประเทศที่จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนทางการค้ารอบใหม่ เช่น แนวนโยบายภายใต้ผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่ แผนยุทธศาสตร์ 5 ปีของจีนที่มุ่งเน้นการพึ่งพาตนเองด้านเทคโนโลยีมากขึ้น ตลอดจนความตกลง RCEP ซึ่งเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดโลก
“ธุรกิจไทยต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ในระยะข้างหน้า บริบทใหม่ของโลกที่ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม ทำให้ประเทศมหาอำนาจของโลกให้น้ำหนักกับประเด็นนี้มากขึ้น และอาจมาใช้เป็นข้ออ้างในการกีดกันทางการค้า ภาคธุรกิจไทยจึงต้องเตรียมการรับมือ โดยหันมาดำเนินธุรกิจบนฐานของความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมมากขึ้น รวมไปถึงการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันด้วยการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอย่างจริงจัง อย่างไรก็ดี ปัจจัยแวดล้อมใหม่ก็อาจส่งผลบวกต่อการค้าไทยได้เช่นกัน เช่น แนวนโยบายของผู้นำสหรัฐฯ ที่จะปรับตัวเข้าสู่กฎกติกาสากลมากขึ้น ซึ่งผลการศึกษาชี้ว่าจะส่งผลบวกต่อการส่งออกของไทยอย่างชัดเจน อีกทั้ง ความตกลง RCEP ที่จะส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้า จากสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีที่เพิ่มขึ้น และอานิสงส์จากการค้าระหว่างคู่เจรจาที่จะคึกคักขึ้น”