"ฐานเศรษฐกิจ" ได้รวบรวมผลตอบแทนดอกเบี้ยเงินฝากประเภท "ปลอดภาษี" ระยะเวลาฝาก 24 เดือนและ 36 เดือน เทียบกับพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษรุ่น"เราชนะ" ซึ่งกระทรวงการคลังเริ่มจำหน่ายวันแรกในวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้
พบว่าปัจจุบันมีธนาคารพาณิชย์เพียง 4 แห่ง ที่จ่ายดอกเบี้ยเงินฝากระดับ 2.00% ขึ้นไป (เงินฝากไม่เสียภาษีดอกเบี้ยหัก ณ ที่จ่าย 15% ) ได้แก่
- ธนาคารไทยเครดิต จ่ายอัตราดอกเบี้ยคงที่ 2.30% ต่อปี สำหรับเงินฝากประจำ 36 เดือนและจ่ายดอกเบี้ยคงที่ 2.15% ต่อปี สำหรับเงินฝาก 24 เดือน
-ธนาคารแลนด์แอนด์เฮาส์ เงินฝาก 36 เดือน อิงดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน (ปัจจุบันอยู่ที่ 1.05% ) บวกเพิ่ม 1.25% รวมเท่ากับ 2.30% ต่อปี เงินฝาก 24 เดือน อิงดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน บวกเพิ่ม 0.75% เท่ากับ 1.80% ต่อปี
-ธนาคารไอซีบีซีไทย จ่ายดอกเบี้ยฝาก 36 เดือน คงที่ 2.050% ต่อปี และสำหรับ 24 เดือน จ่ายอัตราดอกเบี้ยคงที่ 1.90% ต่อปี
- ซีไอเอ็มบีไทย (เงินฝากประจำเพิ่มค่าสบายใจ ) จ่ายดอกเบี้ยฝาก 24 เดือนและ 36 เดือนเท่ากันในอัตราคงที่ 2.00% ต่อปี
อย่างไรก็ดีเงินฝากประเภท "ปลอดภาษี" ยังมีข้อจำกัด กล่าวคือ
1.ผู้ฝาก ฝากได้ 1 บัญชีเท่านั้น (นับรวมบัญชีเงินฝากประจำปลอดภาษีประเภทรายเดือนทุกประเภท )
2.ฝากได้เดือนละ 1,000-16,500 บาทกรณีฝาก 36 เดือน ต้องฝากจำนวนเท่ากันทุกเดือน และฝากเดือนละ 1,000-25,000 บาท สำหรับเงินฝาก 24 เดือน ฝากจำนวนเท่ากันทุกเดือนเช่นกัน
ทั้งนี้ธนาคารส่วนใหญ่จะอนุโลมให้ขาดฝากได้ไม่เกิน 2 ครั้ง แต่หากเกินกว่านั้น อัตราดอกเบี้ยที่ได้รับจะถูกปรับใช้เป็น"อัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์" พร้อมทั้งหักภาษี ณ ที่จ่าย 15%
3.ข้อจำกัดในเรื่องสาขาธนาคารที่รับฝาก โดยเฉพาะธนาคารที่มีจำนวนสาขาน้อย หลายธนาคารจึงมักให้เปิดบัญชีออมทรัพย์ควบคู่ เพื่อใช้หักเข้าบัญชีเงินฝากปลอดภาษี
ส่วน"พันธบัตรออมทรัพย์พิเศษ" รุ่น“เราชนะ”และรุ่น "วอลเล็ต สบม." วงเงินรวม 6 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น
1.พันธบัตรออมทรัพย์พิเศษรุ่น"วอลเล็ต สบม." วงเงิน 5,000 ล้านบาท อายุ 5 ปี เปิดจำหน่ายในแอปพลิเคชันเป๋าตัง เริ่มตั้งแต่เวลา 8.30 น.ของวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 จนถึงเวลา 15.00 น. ของวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 ( ผู้มีสิทธ์ซื้อต้องลงทะเบียนผ่าน วอลเล็ต สบม. ก่อน จึงจะสามารถที่ทำรายการซื้อพันธบัตรได้) สามารถซื้อได้ตั้งแต่ 100 บาทถึง 5 ล้านบาท
- อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได (Step Up) หรือเฉลี่ย 2.00% ต่อปี หักภาษี ณ ที่จ่าย15% ผลตอบแทนดอกเบี้ยสุทธิจะอยู่ที่ 1.70% ต่อปี ( ปีที่ 1-2 ดอกเบี้ย 1.5%ต่อปี , ปีที่ 3- 4 ดอกเบี้ย 2% ต่อปี และปีที่ 5 ดอกเบี้ย 3% ต่อปี )
2.พันธบัตรออมทรัพย์พิเศษรุ่น"เราชนะ" วงเงินรวม 55,000 ล้านบาท จำหน่ายผ่าน 4 ธนาคารได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ ไม่จำกัดวงเงินซื้อ แบ่งการจำหน่ายเป็น 2 ช่วง -
2.1. จำหน่ายวันที่ 5-15 กุมภาพันธ์ 2564
- พันธบัตรออมทรัพย์พิเศษรุ่น"เราชนะ" รุ่นอายุ 5 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2569 อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได หรือเฉลี่ย 2.00% ต่อปี ผลตอบแทนหลังหักภาษี ณ ที่จ่าย15% ดอกเบี้ยสุทธิจะอยู่ที่ 1.70% ต่อปี ( ปีที่ 1-2 ดอกเบี้ย 1.5%ต่อปี , ปีที่ 3 - 4 อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี และ ปีที่ 5 อัตราดอกเบี้ย 3% ต่อปี )
- พันธบัตรออมทรัพย์พิเศษรุ่น "เราชนะ" รุ่นอายุ10 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2574 จ่ายอัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได หรือเฉลี่ย 2.50% ต่อปี ผลตอบแทนหลังหักภาษี ณ ที่จ่าย15% ดอกเบี้ยสุทธิจะอยู่ที่ 2.125% ต่อปี ( ปีที่ 1ดอกเบี้ย 1.5% ต่อปี , ปีที่ 2-3 ดอกเบี้ย 2.00% ต่อปี , ปีที่ 4 - 6 ดอกเบี้ย 2.5% ต่อปี , ปีที่ 7-10% ดอกเบี้ย 3.00% ต่อปี )
2.2 จำหน่ายวันที่ 16-19 กุมภาพันธ์ 2564
- พันธบัตรออมทรัพย์พิเศษรุ่น "เราชนะ" จำหน่ายให้กับนิติบุคคลไม่แสวงหากำไร รุ่นอายุ 15 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 1.8% ต่อปี ผลตอบแทนหลังหักภาษี ณ ที่จ่าย15% ดอกเบี้ยสุทธิจะอยู่ที่ 1.53% ต่อปี
คำนวณพันธบัตรออมทรัพย์ได้ที่นี่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ดีเดย์1ก.พ พันธบัตรออมทรัพย์"เราชนะ"เปิดจำหน่าย เช็กข้อควรรู้-ผลตอบแทนที่นี่
พันธบัตรออมทรัพย์"เราชนะ"คำนวณผลตอบแทนหลังถือครบ น่าลงทุนไหมตรวจสอบได้ที่นี่
"เราชนะ" เปิดวิธีลงทะเบียนติดตั้งแอปเป๋าตัง ซื้อพันธบัตรรุ่นพิเศษ สรุปม้วนเดียวจบ
"เราชนะ" พันธบัตรออมทรัพย์พิเศษ 6 หมื่นล้าน ดีเดย์ 1 ก.พ.นี้
ข้อควรรู้ก่อนซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ "เราชนะ" บนวอลเล็ต สบม.