ธปท.กับภารกิจช่วยเหลือลูกหนี้ภาคประชาชนครบวงจร

05 ก.พ. 2564 | 11:10 น.

คอลัมน์ยังอีโคโนมิสต์ โดย : ณัฐิกานต์ วรสง่าศิลป์ และ ษกาณ เตชชาติวนิช  ฝ่ายคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน  และฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธปท.

วิกฤติโควิด-19 เป็นเหมือน “ฟางเส้นสุดท้าย” ที่ทำให้ปัญหา หนี้ครัวเรือน ออกอาการ จนส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง ที่สำคัญ คนที่แบกภาระหนี้ส่วนใหญ่คือเสาหลักที่ต้องเลี้ยงดูอีกหลายชีวิตในครอบครัว ภาวะไม่ปกติเช่นนี้ย่อมมีโอกาสขยายไปสู่ปัญหาสังคมได้ ซึ่งประเด็นที่ยังไม่กล่าวถึงกันมากนักคือ ปัญหาสุขภาพจิตของลูกหนี้ ที่ปัจจุบันได้กลายเป็นคนไข้กลุ่มใหญ่ของแผนกจิตเวชในแทบทุกโรงพยาบาล จึงน่ากังวลว่า เศรษฐกิจไทยจะมีความพร้อมในการฟื้นตัวจากวิกฤตินี้เพียงใด หากตั้งอยู่บนรากฐานที่อ่อนแอขนาดนี้ ซึ่งนับเป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศที่ธปท.ไม่สามารถแก้ปัญหาได้เพียงลำพัง

 

สำหรับการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านช่องทางของ ธปท.และภาครัฐ แบ่งเป็น หนี้ในระบบ และ หนี้นอกระบบ 

 

หนี้ในระบบ แบ่งเป็น (1) บุคคล ได้แก่ ลูกหนี้บัตรฯ และสินเชื่ออื่นๆ และ (2) ธุรกิจ แยกตามจำนวนเจ้าหนี้คือ เจ้าหนี้คนเดียว และตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป เพราะการปรับโครงสร้างหนี้มีความซับซ้อนต่างกัน โดยลูกหนี้แต่ละกลุ่มสามารถติดต่อผ่านช่องทางต่าง ๆ เพื่อขอความช่วยเหลือได้ด้วยตนเอง ดังนี้

 

1.กลุ่มลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล

 

• หากสถานะปกติแต่เริ่มผ่อนไม่ไหว ให้แจ้งความประสงค์ขอปรับเงื่อนไขการผ่อนชำระได้ที่ “ทางด่วนแก้หนี้” ผ่าน https://www.1213.or.th/App/DebtCase โดย ธปท.จะส่งข้อมูลท่านไปที่ผู้ให้บริการทางการเงินที่ท่านแจ้งไว้ และจะติดตามผลเป็นระยะๆ

 

•หากสถานะเป็น NPL –คดีดำ -คดีแดง สามารถเข้า “คลินิกแก้หนี้” ซึ่งเป็นช่องทางที่ ธปท.ให้ บจก.บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท (SAM) เป็นตัวกลางระหว่างลูกหนี้และผู้ให้บริการทางการเงินที่ร่วมโครงการในการปรับโครงสร้างหนี้บัตรฯ ที่มักมีเงื่อนไขผ่อนสั้นไม่เกิน 1 ปี ดอกเบี้ยสูง ให้เป็นหนี้ระยะยาวไม่เกิน 10 ปี โดยคิดเฉพาะเงินต้น อัตราดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 4-7 และหากลูกหนี้สามารถจ่ายชำระได้ตามข้อตกลง ดอกเบี้ยที่เคยค้างชำระจะยกให้ เพื่อเป็นกำลังใจให้กับลูกหนี้ที่ตั้งใจผ่อน 

ผู้สนใจติดต่อมาที่ https://www.debtclinicbysam.com/

 

•  เมื่อคดีมีคำพิพากษาแล้ว หรืออยู่ในชั้นบังคับคดี ถูกยึดทรัพย์ อายัดเงินเดือน รวมถึงกลุ่มที่เป็น NPL ที่มีสถานะเป็นคดีแดง (เข้าคลินิกแก้หนี้ได้ด้วย) ธปท.ร่วมกับกรมบังคับคดีจัดงาน “มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ออนไลน์” ที่จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันวาเลนไทน์นี้ โดยช่องทางน้องใหม่นี้ จะทำให้ลูกหนี้สามารถกลับมาเจรจากับผู้ให้บริการทางการเงินที่เป็นเจ้าหนี้อีกครั้ง ภายใต้เงื่อนไขที่เป็นประโยชน์กับลูกหนี้มากขึ้นและผ่อนชำระตามความสามารถในการชำระหนี้ โปรดติดตามรายละเอียดในการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการและที่ www.1213.or.th 

 

ธปท.กับภารกิจช่วยเหลือลูกหนี้

 

2.กลุ่มลูกหนี้บุคคลที่เป็นหนี้ประเภทอื่น ๆ และกลุ่มลูกหนี้ธุรกิจ ที่มีเจ้าหนี้เพียงรายเดียว การปรับโครงสร้างหนี้ไม่ซับซ้อนสามารถยื่นคำขอปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ได้ที่ “ทางด่วนแก้หนี้”

 

3.กลุ่มลูกหนี้ธุรกิจที่มีเจ้าหนี้ตั้งแต่ 2 รายขึ้นไป โดยเน้นลูกหนี้ที่มีวงเงินรวมกันตั้งแต่ 50 - 500 ล้านบาท สามารถเข้าโครงการดีอาร์บิส (DR BIZ) ที่มีแนวทางแก้ไขหนี้ที่เจ้าหนี้ได้ตกลงร่วมกันในรูปแบบมาตรฐาน โดยมีเจ้าหนี้หลักดูแลลูกหนี้และประสานกับเจ้าหนี้รายอื่น ทำให้การตัดสินใจแก้ไขหนี้ทำได้เบ็ดเสร็จ ซึ่งจะทำให้ธุรกิจเดินหน้าต่อได้เร็วขึ้น ผู้สนใจเข้าโครงการ “DR BIZ” ที่ https://www.bot.or.th/app/drbiz

 

สำหรับหนี้นอกระบบ ที่สร้างผลกระทบกับลูกหนี้ไม่น้อย จึงรวบรวบหมายเลขโทรศัพท์ของหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับลูกหนี้เข้าไปปรึกษา หากลูกหนี้ท่านใด มีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน โทร.1213 หรือผู้ให้บริการทางการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ และหากท่านผู้อ่านเห็นว่า ข่าวสารนี้จะเป็นประโยชน์ ขอให้ท่านได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือลูกหนี้ให้พ้นจากวังวนของการเป็นหนี้ด้วยการร่วมกัน Share ข้อมูลนี้ให้พวกเขาด้วย 

 

พวกเราเชื่อว่า เมื่อลูกหนี้รู้จักช่องทาง รู้วิธีการแก้หนี้ พร้อมเจรจากับเจ้าหนี้ เมื่อเห็นทางออกย่อมมีความหวังและจะเป็นพลังให้พวกเขาต่อสู้เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคต 

 

ที่มา : หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,650 วันที่ 4 - 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564