หลังจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ได้เผยกฎกระทรวงกัญชงฉบับใหม่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 29 มกราคม 2564 โดยเปิดให้คนไทยทั้งเกษตรกรและประชาชนทั่วไปสามารถขออนุญาตปลูกกัญชงได้ ซึ่งปรากฏว่า มีประชาชน เกษตรกร และทุกภาคส่วนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม-4 กุมภาพันธ์ 2564 มีผู้ขอรับคำปรึกษาทั่วประเทศกว่า 2,000 คน
บริษัทจดทะเบียน(บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ก็เช่นเดียวกัน ที่เห็นการตื่นตัวออกมายื่นใบอนุญาตขอจัดตั้งโรงงานสกัดกับอย.หลาย แห่ง คาดว่า ในช่วงครึ่งปีแรกปี 2564 จะมีกลุ่มเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของกัญชงเริ่มวางจำหน่ายได้ ส่งผลให้ราคาหุ้นที่มีความเกี่ยวข้องตอบรับกันอย่างคึกคัก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อย.เจาะลึกข้อมูลกัญชา-กัญชง แบบเรียลไทม์
เล็งตั้งตลาดกลาง “กัญชง—กัญชา” ซื้อ-ขาย เป็นธรรม
ปลดล็อก"กัญชา" พ้นยาเสพติด มีผล 15 ธ.ค.63
หมอธีระวัฒน์ เผยความเป็นไปได้ " ใช้กัญชา-กัญชง " รักษาปอดอักเสบ ผู้ป่วยโควิด-19
บูม “ปลูกกัญชา” ป้อน 150 โรงพยาบาล
บจ.ที่เริ่มออกมาเปิดเผยการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวกับธุรกิจกัญชง คือ บริษัท ดีโอดี ไบโอเทค จำกัด (มหาชน) (DOD) หลังจากก่อนหน้านี้ บริษัทได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในผู้รับซื้อกัญชง ในโครงการรับสมัครผู้ปลูกกัญชงเชิงพาณิชย์ของทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ โดยอยู่ระหว่างรอแฟลตฟอร์มการยื่นสมัครขออนุญาตแล้วเสร็จของอย.
หากมีความชัดเจนทางบริษัทก็สามารถยื่นใบอนุญาตตั้งโรงงานสกัดสาร CBD ในการเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สารสกัดจากกัญชง นอกจากนี้ ยังเตรียมยื่นคำขอรับใบอนุญาตผลิต (ที่มิใช่การปลูก), คำขอรับใบอนุญาตนำเข้าเมล็ดพันธุ์, คำขอรับใบอนุญาตส่งออกเมล็ดพันธุ์, คำขอรับใบอนุญาตจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ และคำขอรับใบอนุญาตมีไว้ในครอบครองเมล็ดพันธุ์
ด้านบริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) (PTG) ได้เจรจากับพันธมิตรที่ได้ยื่นขอใบอนุญาตทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกัญชงจากอย.แล้ว รวมถึงขอความร่วมมือกับวิสาหกิจชุมชนเพื่อปลูกกัญชงมารองรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกัญชง จะสามารถดำเนินการเพื่อจัดจำหน่ายได้ในปลายไตรมาส 2 หรือต้นไตรมาส 3 ปี 2564
โดยผลิตภัณฑ์ทั้งหมดจะถูกนำไปวางจำหน่ายในร้านค้าในเครือของบริษัท ทั้งร้านค้าปลีก ร้านอาหาร และร้านเครื่องดื่ม เช่น MAX Mart, ร้านกาแฟพันธุ์ไทย และร้านคอฟฟี่เวิลด์ เป็นต้น
บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) (RS) ระบุว่า บริษัท ไลฟ์สตาร์ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของอาร์เอส กรุ๊ป มีความสนใจและมีการศึกษาเรื่องของงานวิจัยมาอยู่ตลอดโดยเฉพาะการนำส่วนต่างๆ ของกัญชงไปแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาบริษัทได้เตรียมความพร้อมโดยร่วมมือกับสถาบันวิจัยชั้นนำศึกษาและคิดค้นสูตรเพื่อนำกัญชงมาพัฒนาและต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมทั้งในส่วนของสกินแคร์, เครื่องดื่ม และอาหารเสริม รวมถึงมีการพูดคุยกับพันธมิตรที่เป็นผู้ปลูกกัญชงเชิงพาณิชย์,โรงสกัด และผู้ผลิตไว้เรียบร้อยแล้ว ยืนยันว่าทางบริษัทและพันธมิตรได้มีการเตรียมการมานานและมีความพร้อมทั้งการผลิตและการจำหน่ายในทันที
นายเอกรินทร์ วงษ์ศิริ นักวิเคราะห์ บล.ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ราคาหุ้นที่เกี่ยวกับกัญชงปรับเพิ่มขึ้น มองว่า เป็นไปตามกระแสที่ช่วงแรกจะมีการเข้าซื้อจำนวนมาก แต่เมื่อมีการเข้ามาแข่งขันของธุรกิจเดียวกันเพิ่มขึ้น ราคาหุ้นจะค่อยๆ ปรับลดลง ซึ่งในช่วง 2-3 ปีแรก ต้องติดตามความชัดเจนของบจ.แต่ละแห่งว่าจะทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกัญชงจริงหรือไม่ และบริษัทใดจะทำได้เป็นเจ้าแรก ทั้งนี้ หากมีการดำเนินการจริง มองว่าจะเป็นผลดีต่อผลประกอบการที่จะมีการเติบโตขึ้นได้
ขณะเดียวกัน ต้องติดตามโรงสกัดแห่งแรกที่จะออกมา เพราะการเป็นเจ้าแรกจะมีโอกาสครองตลาดได้สูง ส่วนการใช้เป็นส่วนผสมนั้น ต้องขึ้นอยู่กับผลิตภัณฑ์ที่ออกมาว่ามีความน่าสนใจ และขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่เหมาะสมด้วย นอกจากนี้ มองว่ากลุ่มที่จะได้ประโยชน์มากที่สุด คือ กลุ่มกลางนํ้า ที่เป็นโรงสกัด เนื่องจากสารที่สกัดออกมามีราคาค่อนแพง และจะถูกนำไปใช้เพิ่มมูลค่าต่อในธุรกิจปลายนํ้า ซึ่งการสกัดมีวิธีการคล้ายกับการสกัดนํ้ามัน โดยปัจจุบันมีบริษัทที่มีความสามารถทำได้ คือ PTG
สำหรับใครที่สนใจยื่นขอใบอนุญาตปลูกกัญชง อย.มีข้อชี้แจงว่า
1.การยื่นคำขออนุญาตปลูกกัญชงสามารถยื่น ณ สถานที่ปลูกตั้งอยู่ หากอยู่ที่กรุงเทพฯให้ยื่นที่ อย. หากอยู่ต่างจังหวัดให้ยื่นที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ส่วนการนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชงเพื่อปลูก หรือศึกษาวิจัยให้ยื่นคำขอที่ อย.
2.เอกสารแสดงสิทธิการครอบครองหรือใช้ประโยชน์ที่ดินที่ใช้ประกอบการยื่นคำขอ เช่น โฉนด, น.ส.3, สัญญาเช่า หรือหนังสือยินยอมให้ใช้สถานที่ ในกรณีใช้ที่ดินของหน่วยงานรัฐ เช่น ที่ราชพัสดุ หรือที่ดิน ส.ป.ก. ให้ใช้หนังสือแสดงการได้รับอนุญาตจากหน่วยงานเจ้าของที่ดินนั้น
3.ระยะเวลาพิจารณาอนุญาตตามคู่มือประชาชน สำหรับกรณีปลูก สูงสุดไม่เกิน 135 วัน และสำหรับกรณีนำเข้า สูงสุดไม่เกิน 75 วัน ทั้งนี้อย.จะเร่งการอนุญาตให้เร็วที่สุด
ที่มา: หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,652 วันที่ 11 - 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564