เป็นกระแสตั้งแต่ยังไม่เริ่มเข้าซื้อขาย สำหรับหุ้น บริษัท ปตท. นํ้ามันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) ที่นักลงทุนรอคอยอย่างใจจดใจจ่อที่จะเป็นเจ้าของ จากการเล็งเห็นถึงความเติบโตของธุรกิจ การเป็นบริษัทลูกของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และราคาเสนอขายหุ้นแห่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) ที่หุ้นละ 18.00 บาท ด้วยวิธี Small Lot First โดยจะจัดสรรให้กับรายย่อยในรอบแรกจำนวน 300 หุ้นต่อราย ยิ่งทำให้การจองซื้อได้รับการตอบรับอย่างล้นหลาม ซึ่งในวันแรกที่เปิดจองซื้อหุ้นกับ 3 ธนาคารพาณิชย์ คือ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK), ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BBL) และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTB) ถึงกับระบบล่มเลยทีเดียว
การเปิดรับจองหุ้น OR ต้องใช้เวลานานเกือบ 10 วัน ซึ่งหลังการปิดจองไปเมื่อเวลา 12.00 น.ของวันที่ 2 กุมภาพันธ์พบว่า มีผู้จองซื้อรายย่อยแสดงความสนใจลงทุนเป็นจำนวนมาก มีจำนวนรายการที่จองซื้อผ่านตัวแทนจำหน่ายหุ้น 3 ธนาคาร ทั้งช่องทางการจองซื้อที่สาขาและช่องทางออนไลน์รวมกว่า 530,000 รายการ เป็นการทำรายการจองซื้อหุ้นที่สูงที่สุด และผลการจัดสรรหุ้นพบว่า นักลงทุนที่จองซื้อผ่านตัวแทน จะได้ไม่เกินคนละ 4,400 หุ้น ในราคาหุ้นละ 18 บาท หรือคิดเป็นเงิน 79,200 บาท และนักลงทุนบางรายอาจได้ 4,500 หุ้นจากการสุ่มรอบสุดท้าย คิดเป็นเงิน 81,000 บาท โดยนักลงทุนที่จองไม่ถึง 4,400 หุ้น จะได้รับหุ้นเต็มจำนวน ส่วนผู้ที่จองเกิน จะได้รับเงินส่วนต่างคืนเข้าในบัญชีภายใน 7-10 วันทำการ
รายงานข่าวจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) เปิดเผยว่า ราคาหุ้น OR เปิดซื้อขายวันแรกวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 เปิดที่ 26.50 บาท เพิ่มขึ้น 8.50 บาท หรือ 47.22% จากราคาไอพีโอที่หุ้นละ18.00 บาท จากนั้นราคาปิดวันแรกอยู่ที่ 29.25 บาท เพิ่มขึ้น 11.25 บาท หรือ 62.50% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 47,360.57 ล้านบาท โดยราคาสูงสุดอยู่ที่ 29.50 บาท เพิ่มขึ้น 11.50 บาท หรือ 63.88% ส่วนมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) อยู่ที่ 339,592.50 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 130,612,500,000 บาท จากมาร์เก็ตแคป ณ ราคาไอพีโอ อยู่ที่ 208,980 ล้านบาท ขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 11 ซึ่งเป็นมาร์เก็ตแคปของไอพีโอใหม่ที่ปิดสูงที่สุด และมีอันดับสูงที่สุด
ขณะที่การซื้อขายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 ราคาเปิดที่ 30.75 บาท เพิ่มขึ้น 1.50 บาท หรือ 5.12% ก่อนปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และปิดที่ 34.00 บาท เพิ่มขึ้น 4.75 บาท หรือ 16.24% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 38,868.81 ล้านบาท สูงสุดเป็นอันดับ 1 โดยระหว่างวันราคาปรับขึ้นไปสูงสุด 36.50 บาท เพิ่มขึ้น 7.25 บาท หรือ 24.78% และมาร์เก็ตแคปอยู่ที่ 394,740 ล้านบาท ขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 9 รวม 2 วันที่เปิดการซื้อขายเพิ่มขึ้น 185,760 ล้านบาท ทั้งนี้ การซื้อขาย 2 วันแรก พบว่าราคาหุ้นได้ปรับเพิ่มขึ้นแล้ว 16.00 บาท หรือ 88.88% จากราคาไอพีโอที่ 18.00 บาท ส่วนมูลค่าการซื้อขายรวม 86,229.38 ล้านบาท และใน NVDR มีสถานะซื้อสุทธิ 1,769,350,737.70 บาท
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลการถือหุ้น OR พบว่า 5 อันดับผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), Merrill Lynch (Singapore) Ple Ltd., กระทรวงการคลัง, สำนักงานประกันสังคม และ Morgan Stanley & Co. International Plc ส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free float) อยู่ที่ 525,054 ราย หรือ 24.52% ซึ่งในการซื้อขายวันแรก นักลงทุนรายย่อยบางส่วนพบปัญหาหุ้นที่จองซื้อไม่เข้าบัญชีหุ้น โดยเฉพาะบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ จำกัด ทำให้เกิดปัญหาซื้อขายไม่ได้ โดยในขณะนั้นราคาหุ้นได้ปรับเพิ่มขึ้นสูง จึงเสียประโยชน์ในส่วนนี้ไป
นายภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเชีย พลัส จำกัด เปิดเผยว่า หุ้น OR มีโอกาสได้รับความสนใจลดลง ส่วนหุ้นพลังงานตัวอื่นมีโอกาสได้รับความสนใจมากขึ้น โดยหลังจากหุ้น OR เข้าซื้อขาย 2 วัน ได้เข้าคำนวณทั้งดัชนี SET50-SET100 ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564 และดัชนี MSCI Global Standard แบบ Fast-track หนุนให้ราคาขยับขึ้นแรงกว่า 89% และมีปริมาณการซื้อขายสูงผิดปกติ ทำให้มีโอกาสสูงที่จะติดมาตรการ Cash Balance
ด้านบล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุว่า แนวโน้มธุรกิจนํ้ามันของ OR ยังรักษาการเติบโตที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยตลาด และเป็นระดับการเติบโตที่ใกล้เคียงอดีตของตัวเอง แม้จะมีฐานธุรกิจใหญ่เป็นเบอร์ 1 แล้วก็ตาม จากการแย่งส่วนแบ่งตลาดรายเล็กต่อเนื่อง ส่วนธุรกิจ Non-Oil ตลาดมีแนวโน้มโตสูงเฉลี่ย 6-10% ในช่วงปี 2564 – 2566 โดยเฉพาะด้านร้านกาแฟ Amazon มีสัดส่วนรายได้ประมาณ 65% ของ Non-oil ที่จับการเติบโตได้ทั้งในและนอกสถานีบริการ ส่งให้ปริมาณขายเพิ่มขึ้น 60% จากประมาณ 267 ล้านแก้ว ในปี 2564 มาที่ 424 ล้านแก้ว
ที่มา : หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,654 วันที่ 18 - 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564