นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)เปิดเผยว่า หากประชาชนพบเห็นพฤติกรรมผู้ประกอบการร้านค้าและบริการรายย่อยที่เข้าร่วมโครงการ "เราชนะ" ฉวยโอกาสขึ้นราคาและบริการ สามารถร้องเรียนผ่านสายด่วนกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ หมายเลขโทรศัพท์ 1569 หรือแจ้งข้อมูลของผู้ร้องเรียน พร้อมหลักฐานในการร้องเรียน รวมถึงช่องทางติดต่อกลับของท่านทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ [email protected]
ทั้งนี้ หากตรวจสอบพบว่า มีการกระทำผิดเงื่อนไขจริง กระทรวงการคลังจะระงับการใช้เครื่องรูดบัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือเครื่อง EDC และแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ของร้านค้าตลอดจนระงับการจ่ายเงินให้กับร้านค้าทันที และจะดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
ส่วนผู้ประกอบการร้านค้าและผู้ให้บริการรายย่อยที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของโครงการ เราชนะ ที่กำหนดให้รับชำระค่าสินค้าและ/หรือบริการโดยตรงจากประชาชนตามราคาสุทธิของสินค้าและ/หรือบริการนั้นๆ และมีการซื้อ-ขายสินค้าหรือรับบริการกันจริง โดยไม่เป็นการดำเนินการผ่านคนกลาง เช่น การสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันบริการรับสั่งอาหาร (Food Delivery Service)
หากตรวจสอบพบว่า มีผู้ประกอบการร้านค้าหรือผู้ให้บริการรายย่อยกระทำผิดเงื่อนไขดังกล่าว กระทรวงการคลัง จะดำเนินการระงับการใช้แอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ตลอดจนระงับการจ่ายเงินให้กับร้านค้าทันที และจะดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
"กระทรวงการคลังได้ขอความร่วมมือกระทรวงพาณิชย์ตรวจสอบผู้ประกอบการร้านค้าหรือผู้ให้บริการรายย่อยในโครงการ เราชนะ ที่ขึ้นราคาสินค้าหรือบริการเกินควร ซึ่งถือเป็นการเอาเปรียบประชาชนผู้บริโภค หลังจากที่ได้รับร้องเรียนจากประชาชนเป็นจำนวนมาก"นางสาวกลุยากล่าว
สำหรับความคืบหน้าของโครงการ เราชนะ ณ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 มีประชาชนกลุ่มผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษได้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 จนถึงปัจจุบันแล้ว 1.5 ล้านคน โดยประชาชนกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 13.7 ล้านคน ได้มีการใช้จ่ายตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 จำนวน 24,283.4 ล้านบาท
ขณะที่ประชาชนกลุ่มที่อยู่ในระบบฐานข้อมูลของแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง”ในโครงการ "เราเที่ยวด้วยกัน"และ "คนละครึ่ง" และ กลุ่มประชาชนทั่วไปที่ลงทะเบียนทางเว็บไซต์ www.เราชนะ.com ที่ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติเบื้องต้นและยืนยันการใช้สิทธิ์ร่วมโครงการฯแล้วมากกว่า 15.6 ล้านคน และมีการใช้จ่ายสะสมตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 จำนวน 20,930.3 ล้านบาท รวมมีผู้ใช้สิทธิ์โครงการ ทั้งสิ้น 29.3 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าการใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยแล้วกว่า 45,213.7 ล้านบาท
ทั้งนี้เป็นการใช้จ่ายผ่านผู้ประกอบการร้านธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นที่มีแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ร้านค้าคนละครึ่งที่ตกลงยินยอมเข้าร่วมโครงการฯ รวมถึงผู้ประกอบการร้านค้าและผู้ให้บริการรายย่อยที่เข้าร่วมโครงการฯ ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ จำนวนมากกว่า 1.1 ล้านกิจการ โดยภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภูมิภาคที่มีการใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์สูงสุดถึง 36% ของการใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์รวม ตามมาด้วย กรุงเทพและปริมณฑล ภาคใต้ และภาคกลางตามลำดับ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: