กระแสเงินทุนจากนักลงทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย ยังเป็นที่น่าติดตามของนักลงทุนทั่วไป เพราะสามารถสะท้อนได้ว่าตลาดหุ้นไทยเป็นน่าสนใจ และเป็นตัวเลือกลงทุนในสายตาต่างชาติหรือไม่ แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พบว่านักลงทุนต่างชาติขายสุทธิอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยกดดันทั้งจากต่างประเทศ และในประเทศเอง โดยเฉพาะการเมืองในประเทศที่ยังมีความวุ่นวายมาติดต่อกันมาช้านาน ทำให้ความเชื่อมั่นนักลงทุนลดลง เกิดการขายลดความเสี่ยงออกมา
รายงานข่าวจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า มูลค่าซื้อขายสะสมในตลาดหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติย้อนหลังตั้งแต่ปี 2556-วันที่ 22 มีนาคม 2564 มีสถานะขายสุทธิรวม 961,405.26 ล้านบาท โดยขายสุทธิตั้งแต่ปี 2556 ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน มีเพียงปี 2559 เท่านั้นที่เป็นสถานะซื้อสุทธิ นอกจากนี้ ปีที่ขายสุทธิสูงที่สุดคือ ปี 2561 ขายสุทธิที่ 287,458.82 ล้านบาท ส่วนปี 2563 ที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ขายสุทธิ 264,385.79 ล้านบาท และตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม-22 มีนาคม 2564 ขายสุทธิ 31,646.55 ล้านบาท
ขณะที่มูลค่าซื้อขายสะสมใน NVDR ตั้งแต่วันที่ 15 - 19 มีนาคม 2564 หุ้นที่ซื้อสุทธิมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) (CPALL) อยู่ที่ 1,482.35 ล้านบาท, บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (DELTA) อยู่ที่ 1,296.82 ล้านบาท, บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) (IVL) อยู่ที่ 770.27 ล้านบาท, บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) (PTG) อยู่ที่ 478.48 ล้านบาท และธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) (TMB) อยู่ที่ 370.79 ล้านบาท
ด้านหุ้นที่ขายสุทธิมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) (STA) อยู่ที่ 1,105.02 ล้านบาท, บริษัท ดูโฮม จำกัด (มหาชน) (DOHOME) อยู่ที่ 364.00 ล้านบาท, บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) (JMART) อยู่ที่ 331.39 ล้านบาท, บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (TISCO) อยู่ที่ 289.62 ล้านบาท และบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCC) อยู่ที่ 265.52 ล้านบาท
นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ จำกัด เปิดเผยว่า ภาพรวมกระแสเงินทุนจากนักลงทุนต่างชาติในช่วงนี้เกิดการสะดุด ถึงแม้ในช่วงต้นเดือนมีนาคมเริ่มเห็นสัญญาณไหลกลับเข้ามา เนื่องจากความวุ่นวายของการเมืองในประเทศ ทั้งการควํ่าร่างรัฐธรรมนูญ และการชุมนุมที่มีความรุนแรงขึ้น รวมถึงการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (บอนด์ยีลด์) สหรัฐ ที่ยังอยู่ระดับสูง จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และคาดการณ์เงินเฟ้อจะสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม การถือครองในหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติปัจจุบันอยู่ที่ 26% ปรับเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนหน้านี้อยู่ที่ 25% แต่ยังอยู่ในระดับตํ่ารอบ 20 ปีที่มีการเก็บข้อมูล ทั้งนี้ ยังคงมุมมองเชิงบวกต่อกระแสเงินทุนต่างชาติในปีนี้ โดยเศรษฐกิจไทยค่อนข้างฟื้นตัวช้า ทำให้เงินทุนไหลเข้าช้า แต่จะฟื้นตัวได้ดีในช่วงครึ่งปีหลัง จากที่มีการกระจายและทยอยฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลัง และรอความชัดเจนของแผนการทยอยเปิดเศรษฐกิจ
“ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยออกมาต่อเนื่อง เพราะไทยได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มาก ในช่วงที่ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องวัคซีนไวรัสโควิด-19 ทำให้นักลงทุนต่างชาติกลับไปลงทุนที่อื่น แต่เมื่อชัดเจนขึ้นก็กลับมาอีกครั้ง ส่วนในครั้งนี้เกิดปัญหาการเมืองในประเทศที่ไม่ค่อยดีนัก จึงสะดุดไปบ้าง แต่เชื่อว่าในปีนี้จะเป็นบวก ส่วนบอนด์ยีลด์ที่ปรับขึ้นมีส่วนกดดันเช่นกัน แต่ไม่ถึงกับทำให้ตลาดพัง ซึ่งมองว่าเป็นการพักฐานเท่านั้น อีกทั้งคาดการณ์บอนด์ยีลด์ขึ้นได้ไม่ไกลมาก จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังคงส่งสัญญาณคงอัตราดอกเบี้ยในระดับตํ่าอีก 2 ปี” นายอภิชาติกล่าว
หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,664 วันที่ 25 - 27 มีนาคม พ.ศ. 2564