รายงานภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่า การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ส่งผลให้จำนวน ผู้ว่างงาน ในปี 2563 เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว มาอยู่ที่ 6.5 แสนคนหรือคิดเป็น อัตราการว่างงาน 1.69% ของกำลังแรงงาน 38.29 ล้านคน จากปี 2562 ที่มีจำนวนผู้ว่างงาน 3.71 แสนคนคิดเป็นอัตราการว่างงาน 0.98%
แม้ช่วงไตรมาส 4 ปี 2563 สถานการณ์การว่างงานจะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากจำนวนผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานสะสมทั้งระบบ ณ ไตรมาส 4 ลดลงมาอยู่ที่ 3.95 แสนคน จากระดับเกิน 5 แสนคนในช่วงไตรมาส 3 และล่าสุดเดือนธันวาคม 2563 จำนวนผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนการว่างงานรายใหม่ ลดลงมาอยู่ที่ 64,760 คนเทียบกับช่วงเดือนพฤษภาคม 2563 ที่มีผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนฯ รายใหม่เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 171,987 คน
แต่ด้วยชั่วโมงการทำงานในปี 2563 ที่ลดลงมาอยู่ที่ 43.2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จากปีก่อนอยู่ที่ 45.8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และแรงงานที่ทำงานล่วงเวลาหรือทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ที่ลดลงเหลือ 5.6 ล้านคนในปี 2563 ลดลงจากปีก่อน 17.1% รวมถึงแรงงานที่ทำงานน้อยกว่า 10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ที่เพิ่มขึ้นเป็น 1.24 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 135% ส่งผลให้รายได้ของแรงงานลดลง และอาจไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ซึ่่งข้อมูลการสำรวจช่วงครึ่งปี 2563 พบว่า ครัวเรือนมีรายได้ 23,615 บาท ลดลงจากปี 2562 ที่มีรายได้ 26,371 บาท หรือมีรายได้ลดลง 10.45%
นายจิรเศรษฐ ศุขสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด(มหาชน) หรือ BLA เปิดเผยว่า ปัญหาคนตกงาน กลายเป็นปัจจัยบวกต่อบริษัทในการจัดทำ โครงการพัฒนาตัวแทนประกันชีวิต เพื่อ รองรับคนตกงาน เพราะคนตกงานส่วนใหญ่เป็นคนที่มีศักยภาพ ไม่ว่าจะอยู่ในภาคธุรกิจการท่องเที่ยว โรงแรม บ้างเป็นอดีตผู้จัดการ หรือหัวหน้า สจ๊วต แอร์โฮสเตส และบางส่วนเป็นเจ้าของกิจการ
ทั้งนี้ โครงการพัฒนาตัวแทนประกันชีวิต มี 3 รูปแบบ คือ
1. Smart Agent (SA) สำหรับคนรุ่นใหม่ที่ต้องการประสบความสำเร็จในอาชีพต้องการเวลารายได้และความก้าวหน้า
2. Smart FA สำหรับผู้ที่สนใจเรื่องการเงินการลงทุนการวางแผนการเงินหรือเป็นตัวแทนประกันชีวิตมุ่งมั่นสู่การเป็นที่ปรึกษาทางการเงินอย่างมืออาชีพ (SFA) และ
3. Smart Leader (SL) สำหรับผู้ที่ต้องการประสบความสำเร็จในการสร้างทีมงานขายเพื่อสร้างความมั่นคงยั่งยืนและมุ่งสู่การเป็นเจ้าของธุรกิจด้วยตนเอง
“เรามีนโยบายที่จะเติบโตในช่องทางตัวแทนอย่างต่อเนื่อง แต่ช่วงการระบาดของโควิด-19 ทำให้การสร้างหรือคัดเลือกตัวแทนประกันชีวิตขลุกขลักและทำได้ยากขึ้น เพราะจากที่ต้องล็อกดาวน์ประเทศในบางพื้นที่ แม้ว่าสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) จะออกมาตรการผ่อนผันการจัดอบรมหลักสูตรเพื่อขอต่ออายุใบอนุญาตตัวแทน-นายหน้าประกันภัยแบบสื่อทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Learning)ก็ตาม” นายจิรเศรษฐกล่าว
อย่างไรก็ตาม บริษัทพยายามจะปรับรูปแบบการทำงานของตัวแทนเป็น full time โดยเฉพาะความมุ่งมั่นของบริษัทในการที่จะคัดเลือกและพัฒนาตัวแทนให้มีความรู้ สามารถที่จะอธิบายบริการและผลิตภัณฑ์ของบริษัทได้อย่างดี โดยปีนี้ตั้งเป้าตัวแทน 4,000 คน แต่เฉพาะ 3 โครงการดังกล่าว 600 คน
ทั้งนี้ Smart leader (SL) เป็นโครงการแรกของธุรกิจบริษัทประกันที่ริเริ่มโครงการนี้ขึ้น เพราะเห็นถึงศักยภาพของท่านที่เคยเป็นผู้จัดการ หรือหัวหน้า ที่พร้อมจะใช้ความสามารถเดิม มาเป็นผู้บริหารหน่วยของ BLA ซึ่งจากโครงการที่ผ่านมาสะท้อนความสำเร็จและมีประสิทธิภาพมากกว่าโครงการอื่น ทำให้ตัวแทนที่เข้าโครงการมีโอกาสประสบความสำเร็จสูงกว่าตัวแทนที่เข้ามาช่องทางปกติ โดยช่วง 2ปีที่ผ่านมา SL จะมีการนำส่งงานสมํ่าเสมอ 90% สูงกว่าตัวแทนพาร์ทไทม์อยู่ที่ 25% ส่วน SFA 80% และ SA 70% เทียบกับระบบจะอยู่ที่ประมาณ 20-30%
สำหรับเบี้ยประกันรับปีแรกปีนี้ นายจิรเศรษฐกล่าวว่า น่าจะเห็นตัวเลข 2 หลักจากปีที่ผ่านมา มีอัตราเติบโตที่ 6% แต่ผ่านมา 3 เดือนปีนี้เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนแล้ววัดการเติบโตยาก เพราะปีก่อนชะลอออกสินค้า เพิ่งวางตลาดระหว่างทาง แต่ในแง่จำนวนรายลูกค้าปีนี้คาดว่า ไตรมาส 3 และ 4 มีโอกาสเป็นบวก หลังจากเดือนมีนาคมขยายตัว 30% และประมาณเดือนพฤษภาคมบริษัทจะออกผลิตภัณฑ์ Unit linked ให้บริการลูกค้าได้ เบื้องต้นคาดว่า เฉพาะยูนิตลิงค์ปีนี้ จะมีเบี้ยรับราว 300 ล้านบาท ซึ่งมีตัวแทนพร้อมขายยูนิตลิงค์เกิน 1,000 คนจากปัจจุบันตัวแทนที่มี IC License 1,400 คน ซึ่งมีประสบการณ์ขายกองทุนรวมบลจ.บัวหลวงมาเป็นเวลา 10 ปี มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร(AUM)ราวหมื่นล้านบาท
นอกจากช่องทางตัวแทนแล้ว บริษัทยังมุ่งมั่นช่องทางอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นไดเร็กต์มาร์เก็ตติ้ง หรือออนไลน์รวมทั้งขายผ่านธนาคาร (แบงก์แอสชัวรันซ์) หรือช่อางทางธนาคารกรุงเทพในสัดส่วน 40% ที่ปรับลดลงมา 3ปีแล้ว ซึ่งเป็นผลพวงจากมาร์เก็ตคอนดักต์และสาขาที่ลดลงของธนาคาร แต่ช่องทางที่เติบโตขึ้นคือ Direct Marketing Online และ Broker โดยเฉพาะโบรกเกอร์เติบโตขึ้นมากทั้งจาก ทีคิวเอ็ม อินชัวร์รันส์โบรกเกอร์(TQM),ทีเอ็ม โบรกเกอร์ในเครือธนชาต, สยามสไมล์โบรกเกอร์และศรีกรุงโบรกเกอร์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กรุงเทพประกันชีวิตเสนอขายกรมธรรม์ผ่านแอพฝ่าโควิด
ตกงานทะลัก ขอชดเชยว่างงานพุ่ง 113%
พิษโควิด จีดีพีดิ่ง! ว่างงานพุ่งรอบ20ปี
คนกรุงว่างงานพุ่ง พ.ค.แตะ 9.6% ผลกระทบโควิด-มาตรการล็อกดาวน์
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,666 วันที่ 1 - 3 เมษายน พ.ศ. 2564