นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยถึงความคืบหน้าการทบทวนโครงสร้างภาษีบุหรี่ทั้งระบบ ว่า เร็วๆ นี้ จะมีการหารือกับนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีกครั้งเพื่อให้ได้ความชัดเจน ส่วนจะปรับเป็นกี่อัตรา (เทียร์) ต้องพิจารณาจากบริบทและข้อจำกัด รวมทั้งขึ้นอยู่กับระดับนโยบาย ซึ่งการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่จะต้องตอบโจทย์ 4 ด้าน คือ ผลกระทบต่อสุขภาพ ผลกระทบต่อเกษตรกรชาวไร่ยาสูบ การจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิต และการดูแลเรื่องสินค้าหนีภาษีด้วย
“รายได้รัฐ ถือเป็น 1 ใน 4 โจทย์ ที่ต้องพิจารณา ซึ่งการปรับโครงสร้างภาษีใหม่ต้องไม่ทำให้รายได้ภาครัฐลดลง ปัจจุบันจัดเก็บภาษีได้ราว 60,000 ล้านบาท/ปี ส่วนจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ ต้องพิจารณาก่อน โดยกรมฯ ได้เตรียมแผนการปรับโครงสร้างภาษีไว้หลายแนวทาง เมื่อได้ข้อสรุปแล้วจะเร่งนำเรื่องเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้เร็วที่สุด เพื่อให้ผู้ประกอบการได้มีเวลาในการปรับตัว เนื่องจากโครงสร้างภาษีเดิมจะใช้จนถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2564”
อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวด้วยว่า โครงสร้างภาษีบุหรี่ที่ผ่านมาตอบโจทย์บางเรื่อง คือ เรื่องสุขภาพ แต่อาจไม่ตอบโจทย์บางเรื่อง วันนี้สิ่งที่เห็นคือการเปลี่ยนไปสูบยาเส้นแทนเพราะราคาถูกกว่า และบุหรี่เถื่อนก็เห็นสัญญาณว่ามีเพิ่มมากขึ้น ขณะที่การดูแลเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการที่โรงงานยาสูบรับซื้อผลผลิตลดลงนั้นล่าสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ลงนามในหนังสือของบประมาณเพื่อเยียวยาเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบไปแล้วตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา วงเงิน 159 ล้านบาท ซึ่งจะสามารถเยียวยาเกษตรกรได้จำนวนหมื่นกว่าราย