นายณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯเตรียม จ่ายเงินปันผล รวม 6 กองทุนคือ กองทุน Super Savings (ชนิดเพื่อการออมพิเศษ) 3 กองทุน สำหรับผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 8 เม.ย. 2563 – 31 มี.ค. 2564คือ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้นไทยแอคทีฟ เพื่อการออม (ชนิดเพื่อการออมพิเศษ) (SCBEQ-SSFX) จ่ายปันผลในอัตรา 0.9000 บาทต่อหน่วย (นับจากจัดตั้งเมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2563)
กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ ผสม 70/30 เพื่อการออม (ชนิดเพื่อการออมพิเศษ) (SCB70-SSFX) กำหนดจ่ายปันผลในอัตรา 0.6000 บาทต่อหน่วย (นับจากจัดตั้งเมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2563) และกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ ดัชนี SET เพื่อการออม (ชนิดเพื่อการออมพิเศษ) (SCBSET-SSFX) กำหนดจ่ายปันผลในอัตรา 0.5000 บาทต่อหน่วย (นับจากจัดตั้งเมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2563) ซึ่งทั้ง 3 กองทุนกำหนดจ่ายปันผลพร้อมกันในวันที่ 30 เม.ย. 2564 นี้
นอกจากนั้นยังกำหนดจ่ายปันผลกองทุนหุ้นต่างประเทศ 3 กองทุนพร้อมกันในวันที่ 5 พ.ค. 2564คือ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้น LOW VOLATILITY (ชนิดจ่ายเงินปันผล) (SCBLEQ) สำหรับงวดผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 1 เม.ย. 2563 – 31 มี.ค. 2564 กำหนดจ่ายปันผลในอัตรา 0.4825 บาทต่อหน่วย จากที่มีการจ่ายระหว่างกาลเมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2563 ไปแล้ว 0.2280 บาทต่อหน่วย คงเหลือจ่ายงวดนี้ 0.2545 บาทต่อหน่วย นับเป็นครั้งที่ 9 รวมจ่ายปันผล 1.7386 บาทต่อหน่วย (นับจากจัดตั้งเมื่อ 28 เม.ย. 2559)
ส่วนอีก 2 กองทุน สำหรับงวดผลการดำเนินงานวันที่ 1 ต.ค. 2563 – 31 มี.ค. 2564 คือ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ โกลบอล พร็อพเพอร์ตี้ (ชนิดจ่ายเงินปันผล) (SCBGPROP) กำหนดจ่ายปันผลในอัตรา 0.2500 บาทต่อหน่วย นับเป็นครั้งที่ 9 รวมจ่ายปันผล 1.2632 บาทต่อหน่วย (นับจากจัดตั้งเมื่อ 4 ต.ค. 2559) และกองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นญี่ปุ่น (ชนิดจ่ายเงินปันผล) (SCBNK225D) กำหนดจ่ายปันผลในอัตรา 0.2854 บาทต่อหน่วย นับเป็นครั้งที่ 13 รวมจ่ายปันผล 3.8641 บาทต่อหน่วย (นับจากจัดตั้งเมื่อ 11 ต.ค. 2556)
นายณรงค์ศักดิ์กล่าวว่า ภาพรวมของตลาดหุ้นญี่ปุ่นได้รับปัจจัยบวกจากมาตรการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลังมูลค่า 117 ล้านล้านเยน รวมถึงการได้เข้าซื้อ ETFs และ JPREITs เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับการตลาดการเงิน และความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนป้องกัน Covid-19 ยังเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนในประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย
ส่วนตลาดหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์นั้น ยังคงมองว่า มีแนวโน้มฟื้นตัวดีต่อเนื่องจากเศรษฐกิจในหลายประเทศที่เริ่มกลับมาดำเนินได้ใกล้เคียงกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของ Covid-19 และยังได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ทำให้อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกอยู่ในระดับต่ำ เป็นผลดีต่อกระแสเงินสดของตัวบริษัท รวมถึงทำให้ส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรและอัตราเงินปันผลอยู่ในระดับที่สูงขึ้นและมีความน่าสนใจในการลงทุน
ขณะที่ตลาดหุ้นไทยนั้น มีการปรับตัวขึ้นจากปัจจัยหลักเกิดจากความคาดหวังเศรษฐกิจภายในประเทศที่จะฟื้นตัวขึ้นภายหลังที่ผู้ติดเชื้อ Covid-19 ในระลอกที่ 2 เริ่มควบคุมได้ ส่งผลให้หุ้นที่เกี่ยวข้องกับการเปิดประเทศปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสภาพคล่องในระบบยังมีอยู่สูงมากจากเงินเชิงปริมาณ (QE) ของธนาคารกลางทั่วโลกที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกยังมีแนวโน้มที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แม้ว่าตั้งแต่ช่วงต้น เม.ย. เป็นต้นมา ประเทศไทยได้มีการระบาดของโรค Covid-19 ระลอกที่ 3 เกิดขึ้นและมีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก ทำให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงโดยเฉพาะหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการเปิดประเทศทั้งกลุ่ม ธนาคาร กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มพาณิชย์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม คาดว่า ตลาดหุ้นไทยยังมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นได้อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังภายหลังที่ประเทศไทยได้รับการฉีดวัคซีนจำนวนมาก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: