สรุปมติครม. ”เยียวยาโควิดรอบใหม่” วงเงิน 8.5 หมื่นล้าน ใช้โครงการอะไรบ้าง

11 พ.ค. 2564 | 23:00 น.
อัปเดตล่าสุด :17 พ.ค. 2564 | 03:50 น.

ตรวจสอบ มติคณะรัฐมนตรี ”เยียวยาโควิดรอบใหม่” วงเงินรวมจาก พรก.กู้เงิน จำนวน 8.5 หมื่นล้านบาท ใช้โครงการต่างๆเพื่อเยี่ยวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ

ฐานเศรษฐกิจ ตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 11 พ.ค. ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบเยียวยาโควิด ในการเติมเงินโครงการเราชนะ และ  โครงการ ม.33 เรารักกัน 

ซึ่งนอกจากนั้นแล้ว ครม.ยังมีมติที่เกี่ยวข้องกับการเยียวยาโควิดและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ในโครงการและมาตรการอื่นๆวงเงินรวมทั้งหมด 8.5 หมื่นล้าน โดยมีรายละเอียดในเอกสารมติครม. ดังนี้  

ครม.มีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุมครั้งที่ 15/2564 เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2564 

โดยอนุมัติให้นำวงเงินกู้มาใช้เพื่อการเพิ่มเติม (ครั้งที่ 3) จำนวน 85,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการให้ความช่วยเหลือ เยียวยา ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในระลอกเดือนเมษายน 2564

 

โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ บริหารจัดการน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 

อนุมัติโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ บริหารจัดการน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทาน ของกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 384 รายการ กรอบวงเงิน 4,224.8246 ล้านบาท (ปรับลดลงจากกรอบวงเงินที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จำนวน 16,795.5548 ล้านบาท หรือลดลง 12,570.7302 ล้านบาท) โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงานที่ 3.4 ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดฯ พร้อมทั้งเห็นควรมอบหมายให้กรมชลประทาน เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการ และดำเนินการอย่างเคร่งครัด

 

โครงการพัฒนาการตลาดสินค้ากลุ่มผู้ทำการผลิตที่บ้านหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19

อนุมัติโครงการพัฒนาการตลาดสินค้ากลุ่มผู้ทำการผลิตที่บ้านหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ วงเงิน 4,167,900 บาท (ปรับลดจาก 8,000,580 บาท) หรือปรับลดประมาณ 3,832,680 บาท โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงานที่ 3.2 ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดฯ พร้อมทั้งเห็นควรมอบหมายให้สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการและดำเนินการอย่างเคร่งครัด

โครงการขององค์กรภาคประชาชน

อนุมัติโครงการขององค์กรภาคประชาชนภายใต้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จำนวน 2 โครงการ โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงานที่ 3.2 ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดฯ ได้แก่

1. โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจครัวเรือนคนพิการและครอบครัวด้วยเกษตรสมัยใหม่และยกระดับการแปรรูปผลิตภัณฑ์และอาหาร โดยใช้การตลาดผสมผสาน Online ผ่าน Social Media ของมูลนิธิสภาศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการประเทศไทย กรอบวงเงิน 23,691,300 บาท (ปรับลดจากข้อเสนอวงเงิน 42,042,300 บาท หรือลดลงประมาณ 18,351,000 บาท) ระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 เดือน

พร้อมทั้งเห็นควรมอบหมายให้กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการ ดำเนินการตามข้อสังเกตของคณะกรรมการฯ อย่างเคร่งครัด

2. โครงการสร้างต้นแบบศูนย์เรียนรู้การบริหารจัดการขยะอย่างยั่งยืนและครบวงจร เพื่อสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และสร้างต้นแบบ 1 อำเภอ 1 ตำบล ของสุพรรณบุรี เพื่อการบริหารจัดการขยะอย่างยั่งยืน พร้อม “ร้านรวยน้ำใจ” สู้วิกฤติการระบาดของไวรัสโควิด-19 ของสวนพุทธชาติ ศูนย์เรียนรู้บริหารจัดการขยะอย่างยั่งยืน กรอบวงเงิน 1,644,000 บาท (ปรับลดจากข้อเสนอวงเงิน 2,830,400 บาท หรือลดลงประมาณ 1,186,400 บาท) ระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 เดือน

พร้อมมอบหมายให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนเป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการฯ ดำเนินการอย่างเคร่งครัด

 

โครงการเราชนะ

อนุมัติให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ปรับปรุงรายละเอียดโครงการเราชนะ เพื่อเพิ่มวงเงินสนับสนุนให้แก่ผู้ได้รับสิทธิ์ตามกลุ่มเป้าหมายทั้ง 4 กลุ่ม ที่ไม่เคยขอสละสิทธิ์การเข้าร่วมโครงการฯ จำนวนประมาณ 33.5 ล้านคน คนละ 1,000 บาทต่อสัปดาห์ เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ ตามช่องทางการได้รับวงเงินสนับสนุนของแต่ละกลุ่ม 

ทำให้กรอบวงเงินรวม ของโครงการฯ เพิ่มขึ้นจากกรอบวงเงินไม่เกิน 213,242 ล้านบาท เป็นกรอบวงเงินไม่เกิน 280,242 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 67,000 ล้านบาท ทั้งนี้ วงเงินสนับสนุนที่ได้รับตามโครงการฯ สามารถสะสมเพื่อใช้จ่ายได้ไม่เกินวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

 

โครงการ ม33 เรารักกัน

อนุมัติให้สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ปรับปรุงรายละเอียดโครงการ ม33 เรารักกัน ในส่วนของการเพิ่มวงเงินสนับสนุนให้แก่ประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับสิทธิตามโครงการฯ จำนวน 8.11 ล้านคน และกลุ่มที่อยู่ระหว่างทบทวนสิทธิ์ จำนวน 30,000 คน โดยเป็นการจ่ายวงเงินสนับสนุนจำนวน 2,000 บาทต่อคน (สัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์) ภายใต้กรอบวงเงินโครงการฯ จำนวน 48,841.4700 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 11,741.4700 ล้านบาท จากกรอบวงเงินเดิมที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติจำนวน 37,100 ล้านบาท 

รวมถึงเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการของโครงการฯ จากไม่เกินวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 เป็นไม่เกินวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ

 

โครงการทัวร์เที่ยวไทย-เราเที่ยวด้วยกัน

อนุมัติให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) เปลี่ยนแปลงแผนการเริ่มดำเนินโครงการทัวร์เที่ยวไทย และโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ในเดือนพฤษภาคม 2564 ออกไปก่อน โดยเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในระลอกเดือนเมษายน คลี่คลายลงแล้วจะเร่งแจ้งแผนการเริ่มดำเนินโครงการฯ ให้คณะกรรมการฯ ทราบโดยทันที ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ พร้อมทั้งให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศ ดำเนินการตามข้อสังเกตของคณะกรรมการฯ โดยเคร่งครัด

 

โครงการกำลังใจ
รับทราบการปรับลดกรอบวงเงินของโครงการกำลังใจจาก 2,400.0000 ล้านบาท เป็น 1,370.0000 ล้านบาท หรือลดลงประมาณจำนวน 1,030.0000 ล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและผลการดำเนินโครงการฯ ซึ่งจะช่วยให้การบริหารกรอบวงเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

โครงการยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลางตะวันตกด้วย BCG โมเดลฯ

อนุมัติให้สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ปรับปรุงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลางตะวันตกด้วย BCG โมเดล และศูนย์นวัตกรรมการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรมอาหาร โดยขยายระยะเวลาดำเนินโครงการยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลางตะวันตกด้วย BCG โมเดล 

จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2564 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2564 และโครงการศูนย์นวัตกรรมการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรมอาหาร จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2564 เป็นสิ้นสุดวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอ

 

โครงการย่อยที่ 1 การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทุเรียนคุณภาพ

อนุมัติให้จังหวัดศรีสะเกษยกเลิกการดำเนินโครงการย่อยที่ 1 การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทุเรียนคุณภาพตามมาตรฐานเกษตรดีที่เหมาะสม วงเงิน 1.9500 ล้านบาท ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ

 

โครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก

เห็นชอบและรับทราบการปรับกลไกและกระบวนการในการขับเคลื่อนภายใต้โครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากให้สอดคล้องกับคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 99/2564 รวมทั้งรับทราบการปรับปรุงคู่มือแนวปฏิบัติฯ ตามที่ สศช. เสนอ พร้อมทั้งมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนดไว้ในคู่มือแนวปฏิบัติฯ (ฉบับปรับปรุง) รวมถึงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องทางราชการโดยเคร่งครัด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :