กู้ 7 แสนล้าน เข็นศก.ไม่ขึ้น โควิดระลอก3 วิกฤติหนัก เอกชนจี้ตุนกระสุนเพิ่ม

22 พ.ค. 2564 | 23:30 น.
อัปเดตล่าสุด :23 พ.ค. 2564 | 01:39 น.

บิ๊กธุรกิจหนุนพ.ร.ก.กู้เงิน 7 แสนล้าน แต่ติงงบฟื้นฟูเศรษฐกิจ 2.7 แสนล้าน ไม่พอขับเคลื่อน ชี้ธุรกิจได้รับผลกระทบหนัก หากลากยาวรัฐบาลต้องตุนเม็ดเงินเพิ่มอีก 5-7 แสนล้าน ยันไม่กระทบหนี้สาธารณะ ยังต่ำกว่าหลายประเทศ สมาพันธ์SMEs จี้แจงให้ชัดเอาไปทำอะไร

คณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 18 พ.ค. ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบให้กระทรวงการคลัง ออก พ.ร.ก.กู้เงิน หรือ พระราชกำหนดเพื่อฟื้นฟูและเยียวยาเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ วงเงิน 7 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในแผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา หรือชดเชย ให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ วงเงิน 4 แสนล้านบาท และ แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ วงเงิน 2.7 แสนล้านบาท

เนื่องจากพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่ได้มีการนำมาใช้ตั้แต่ปี 2563 ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันเหลือเงินที่จะนำออกมาใช้ได้อีกราว 1.8 แสนล้านบาท และรัฐบาลมีภาระต้องใช้เยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจำนวน 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งจะเหลือวงเงิน 3 หมื่นล้านบาท ที่เป็นของกระทรวงสาธารณสุขไม่เพียงพอในการรับมือกับการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ที่เกิดขึ้น

การอนุมัติกรอบวงเงินกู้เพิ่มเติมนี้ หลายฝ่ายออกมาสนับสนุนถึงความจำเป็นในการกู้เงิน แต่ยังมองว่า เม็ดเงินดังกล่าวยังไม่เพียงพอต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ เพราะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดระลอก 3 สร้างความเสียหายต่อภาวะเศรษฐกิจมากกว่าการแพร่ระบาดใน 2 ระลอกที่ผ่านมา รัฐบาลควรที่จะมีเม็ดเงินเพิ่มเติมกับส่วนนี้ ควบคู่ไปกับเม็ดเงินที่ใช้เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ

 

จี้ตุนกระสุนเพิ่มรับมือ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือกกร. กล่าวว่า เห็นด้วยกับรัฐบาลในการออก พ.ร.ก. กู้เงินอีก 7 แสนล้านบาท โดยขอให้รัฐบาลเร่งผลักดันเรื่องนี้โดยเร็ว เพื่อให้มีเม็ดเงินเพียงพอในการดำเนินงานด้านสาธารณสุข ด้านการเยียวยา ชดเชยประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ และฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง ภายใต้สถานการณ์โควิดที่ยังรุนแรงและมีความไม่แน่นอนสูง

“ส่วนตัวมองว่า หนี้สาธารณะของไทยยังอยู่ในระดับตํ่า ยังสามารถกู้เงินเพิ่มได้อีกมาตุนไว้ เพราะเวลานี้เศรษฐกิจไม่ดี หากกู้เงินมาแล้วช่วยทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ทำให้ประชาชนมีรายได้ รัฐเองก็มีรายได้ ก็จะสามารถชำระหนี้คืนเงินกู้ได้ในอนาคต”

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ขณะนี้พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านฉบับเดิม มีเงินเหลือ 16,526 ล้านบาท เมื่อรวมกับเงินที่จะกู้ใหม่อีก 7 แสนล้านบาท บวกงบกลางปี 2564 อีก 98,214 ล้าน และงบประมาณปี 2565 อีก 1.2 แสนล้านบาท จะทำให้รัฐบาลมีเงินเพื่อสู้โควิดระลอกใหม่รวมกว่า 934,740 ล้านบาท

ทั้งนี้มองว่าหากรัฐบาลสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่ให้อยู่ในวงจำกัดได้ภายใน 3 เดือน และการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ราว 50-70% ของจำนวนประชากรไทยภายในสิ้นปีนี้ คาดว่าเงินกู้ก้อนใหม่อีก 7 แสนล้านน่าจะเพียงพอ แต่หากไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้ เงินกู้ 7 แสนล้านอาจไม่เพียงพอ อาจต้องกู้รอบใหม่เพิ่มอีก 5-7 แสนล้านบาท

ด้านนายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า เพดานหนี้สาธารณะเป็นเพดานที่กำหนดจากสถานการณ์ในอดีต แต่วิกฤตที่เกิดขึ้นระดับการก่อหนี้ก็น่าที่จะยืดหยุ่นได้ เช่นเดียวกับทั่วโลกที่ใช้มาตรการทางการคลังบริหารเช่นเดียวกัน

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า การกู้เงิน 7 แสนล้านบาท แต่วางกรอบเพื่อใช้ฟื้นฟู้เศรษฐกิจ 2.7 แสนล้านบาท ถือว่ายังไม่เพียงพอ เพราะธุรกิจล้มหายไปจำนวนมาก การเข้าถึงแหล่งเงินกู้ก็ยากลำบาก แม้รัฐจะมีเงินแต่สถาบันการเงินอาจจะไม่ปล่อยกู้ให้ ซึ่งรัฐต้องหาวิธีให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ให้ได้มากขึ้น


กู้ 7 แสนล้าน เข็นศก.ไม่ขึ้น โควิดระลอก3 วิกฤติหนัก เอกชนจี้ตุนกระสุนเพิ่ม

โควิดยังรุนแรง-ลากยาว

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิจัย ธนาคาร ทหารไทยธนชาต หรือ ttb analytics กล่าวว่า ภาครัฐยังมีพื้นที่เหลือในการก่อหนี้เพิ่มเติมได้ เพราะหากเทียบกับองค์การระหว่างประเทศ หรือในต่างประเทศเอง มีการใช้งบประมาณในการดูแลเศรษฐกิจและการระบาดของโควิด-19 จำนวนมาก

ขณะที่ไทยใช้งบประมาณน้อยถึงปานกลาง แต่การกู้เงินเพิ่มจะต้องใช้เงินตรงกลุ่มเป้าหมาย เช่น มาตรการที่ยังขาดอยู่คือ การกระตุ้นให้เอสเอ็มอี เพื่อประคองซัพพลายเชนเอสเอ็มอีให้อยู่รอดได้ โดยอาจจะเป็นรูปแบบโครงการคนละครึ่ง เพื่อให้ประชาชนที่มีกำลังซื้อซื้อสินค้าโดยตรงกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ด้วยการสนับสนุนให้มีการหักลดหย่อนภาษีได้มากขึ้น แต่จะแตกต่างจากนโยบายลดหย่อนภาษีปลายปี

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทยกล่าวว่า ในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ยังสามารถขาดดุลงบประมาณได้มากขึ้น เพราะวิกฤติโควิดรุนแรงและมีแนวโน้มลากยาว โดยเงินกู้ที่ใช้น่าจะเป็นลักษณะชดเชยรายได้ที่หายไป ประเภทเงินโอนให้แรงงานนอกระบบ และควรเร่งชดเชยแรงงานในระบบด้วย เพราะอาจเห็นการลดชั่วโมงการทำงาน

“มองว่าที่ผ่านมา การใช้งบประมาณของรัฐยังเป็นลักษณะ 1.แจกน้อย แจกช้า 2. ไม่ได้ใช้เงินปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่เน้นการลงทุน และ 3.ไม่เห็นการใช้เงินชดเชยภาษีที่หายไป ด้วยการสร้างแรงจูงใจคนมีเงินให้มาร่วมกระตุ้นเศรษฐกิจ”นายอมรเทพ

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า หากรวมกรอบเงินกู้ 7 แสนล้านบาท จะทำให้หนี้สาธารณะ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2564 จะอยู่ที่ราว 58.7-59.6% ของจีดีพี แต่คาดว่า จะมีการกู้จริงประมาณครึ่งหนึ่งของวงเงินทั้งหมด ณ สิ้นปีงบประมาณ 2564

ปันงบเยียวยาสู่ท่องเที่ยว

นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย  (สทท.) กล่าวว่า การกู้เงิน 7 แสนล้านบาทของรัฐบาลที่จะเกิดขึ้น เป็นเรื่องที่ดี เพราะการแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่ ส่งผลให้ไตรมาส 2 ปีนี้ ทั้งภาคธุรกิจและประชาชนจะยํ่าแย่ที่สุด การกู้และเติมเงินเข้าในระบบเศรษฐกิจจะช่วยประชาชนได้ระดับหนึ่ง ทั้งโครงการคนละครึ่ง หรือมาตรการต่างๆ แต่อยากให้รัฐบาลนำเงินกู้ส่วนหนึ่งมาเยียวยาผู้ประกอบการในภาคการท่องเที่ยวด้วย

เนื่องจากมาตรการซอฟต์โลนก่อนหน้านี้ ผู้ประกอบการในระดับเอสเอ็มอี ยังมีปัญหาการเข้าถึงแหล่งทุนอยู่ เพราะเงื่อนไขของสถาบันการเงิน จึงอยากขอให้มีการผ่อนคลายข้อจำกัด และเงินกู้ใหม่นี้ขอให้กันส่วนหนึ่งมาเป็นเงินกองทุนช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการให้กลับมาเปิดธุรกิจได้ใหม่ โดยเฉพาะในพื้นที่ภูเก็ตและเกาะพีพี และพื้นที่ต่างๆตามแผนเปิดประเทศของรัฐบาล การสนับสนุนค่าจ้างพนักงานแบบ Co-pay และการเร่งเรื่องการฉีดวัคซีนเพราะเป็นทางออกของท่องเที่ยวไทย

จี้รัฐแจงใช้งบ

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธาน สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า การกู้เงินเพิ่ม 7 แสนล้านบาท แม้จะนำมาเยียวยาประชาชน แต่สุดท้ายก็เป็นหนี้ของประเทศ เพื่อความเป็นธรรม รัฐต้องประกาศชัดๆ ว่าเงินที่กู้มาจะนำใช้ทำอะไร หรือมีแผนทำอะไร เพราะสาธารณชนหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ต้องมาใช้หนี้ร่วมกับรัฐบาล

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา SMEs ในระบบยังไม่เห็นว่ามีการช่วยเหลืออย่างเต็มที่ รัฐไม่ได้มอง SMEs ที่มีศักยภาพน้อย และต้องหยุดเลือดไม่ให้ไหลไปเป็น NPL เมื่อผู้ประกอบการเข้าไม่ถึงซอฟต์โลน ก็ต้องมีมาตรการอื่นเข้ามาช่วยเหลือแทน มาตรการที่เชื่อว่าจะทำได้อย่างเร็วที่สุดคือ “SMEs ไทยชนะ” การพักต้นพักดอก 6-12 เดือนโดยรัฐเป็นผู้ออกให้ครึ่งหนึ่งและธนาคารออกให้ครึ่งหนึ่ง เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเงินทุนหมุนเวียนต่อลมหายใจ และอีกมาตรการคือ P/O Factoring เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้เร็วขึ้น ส่วนในระยะยาว รัฐควรพิจารณาเรื่องของกองทุนช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้เป็นรูปธรรม เพื่อสร้างให้ SMEs ไทยเข้มแข็ง

ภาคค้าปลีกโดดหนุน

นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า เห็นด้วยกับการอนุมัติพ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มอีก 7 แสนล้านบาท เพราะเป็นสิ่งที่ต้องทำ แต่จะทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพเป็นอีกเรื่อง เพราะเงินกู้รอบเก่าที่เหลืออยู่เชื่อว่าไม่เพียงพอที่จะรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระลอก 3 และการกู้รอบใหม่ก็ยังไม่ส่งผลกระทบต่อสถานะการเงินการคลัง เพราะสภาพคล่องยังล้นอยู่ แต่หากในอีก 2 ปีเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัว ย่อมส่งผลกระทบแน่นอน

อย่างไรก็ดี อยากให้รัฐบาลมองใน 2 ประเด็นคือ เมื่อกู้เงินเพิ่มแล้ว ต้องคิดถึงการจ้างงานและสร้างงานเป็นหลัก และในระยะยาว คิดเรื่องการลงทุนของภาคเอกชนให้มากขึ้น เพราะที่ผ่านมาตัวเลขการลงทุนที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นของภาครัฐ ดังนั้นภาครัฐต้องผลักดันให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชน

“How to คือ1. รัฐต้องเติมเงินเข้าสู่ระบบ เพื่อให้เงินหมุนเวียนและคงสภาพการจ้างงาน 2. ต้องคิดวางแผนระยะยาวให้เกิดการลงทุนต่อเพื่อให้เกิดการสร้างงานมากขึ้น”

อสังหาฯเชียร์กู้ได้

นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า ต้องพิจารณาว่า รัฐบาลจะกู้เงินมาเพื่อกระตุ้นธุรกิจไหนได้บ้าง ซึ่งในส่วนของภาคอสังหาริมทรัพย์ อยากจะให้ออกมาตรการเข้ามาช่วยเหลือ ในการกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศ เพราะหากจะรอกำลังซื้อจากต่างประเทศเข้ามาเป็นเรื่องลำบากในเวลานี้

ที่มา: หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,681 วันที่ 23 - 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2564