ท่ามกลางความร้อนแรงของราคาคริปโทเคอร์เรนซี สิ่งที่มาแรงไม่น้อยไปกว่ากัน คือ การหลอกลวงซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี เช่น ชักชวนให้ซื้อขายคริปโทผ่านแพลตฟอร์มที่อ้างว่าให้ผลตอบแทนสูงเป็นเท่าตัวในเวลารวดเร็ว หรือหลอกลวงว่าเป็นการระดมเงินเพื่อนำไปสร้างคริปโทที่มาขายฝันไว้ว่าจะก้าวขึ้นไปเป็นคริปโทเคอร์เรนซีสกุลใหม่ของโลก แต่สุดท้ายคนชวนกลับหายตัวและผู้ที่หลงเชื่อต้องสูญเสียเงินไปในที่สุด
กลโกงเหล่านี้เปรียบเหมือน “เหล้าเก่าในขวดใหม่” เพราะวิธีการที่มิจฉาชีพนำมาใช้ไม่ได้แตกต่างไปจากที่ผ่าน ๆ มา เพียงแต่เปลี่ยนเรื่องราวไปตามกระแสความสนใจของสังคม โดยอาศัยความไม่รู้ของประชาชนเป็นเครื่องมือ และในปัจจุบันที่มิจฉาชีพสามารถเข้าถึงเหยื่อได้ง่ายขึ้นยิ่งทำให้การหลอกลวงทำได้หลากรูปแบบและหลายช่องทางมากขึ้น ที่พบได้บ่อย คือ การโฆษณาชวนเชื่อผ่านออนไลน์ เช่น เว็บไซต์หรือโซเชียลมีเดีย
ล่าสุด มีผู้เสียหายจำนวนมากแจ้งความร้องทุกข์และร้องเรียนไปที่หน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งเข้ามาที่ “สายด่วนศูนย์บริการประชาชน ก.ล.ต.” โทร. 1207 ว่า ถูกหลอกให้ซื้อขายคริปโท โดยมิจฉาชีพซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติทำ “โปรไฟล์ปลอม” ใช้รูปถ่ายที่แสดงหน้าตาหล่อ/สวย เข้ามาทำทีตีสนิท ไม่ว่าจะเป็นในเชิงเพื่อนหรือเชิงชู้สาว ผ่านทางแพลตฟอร์มหรือแอปพลิเคชั่นหาเพื่อน เริ่มจากพูดคุยผ่านแชท ไปจนถึงส่งดอกไม้ ให้ของขวัญจนเหยื่อตายใจ ซึ่งเป็นสัญญาณให้มิจฉาชีพขยับก้าวไปอีกขั้น นั่นคือ การเริ่มด้วยคำถามว่า...
“เคยลงทุนในคริปโทไหม?... หากไม่เคยจะสอนให้”
คำถามแนวนี้เริ่มเข้ามาในแชท และชวนซื้อขายคริปโทผ่านแพลตฟอร์มศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (exchange) ของต่างประเทศโดยอ้างว่ากำลังเป็นที่นิยม เพราะทำกำไรได้ดีกว่าในประเทศไทยมาก คล้าย ๆ กับตัวอย่าง 2 รายนี้ ที่ผู้เสียหายได้ร้องเรียนและแจ้งความไว้แล้ว
มิจฉาชีพรายที่ 1
> เริ่มจากชวนซื้อขายคริปโทผ่านแอปพลิเคชันหนึ่ง ที่อ้างว่าให้ผลตอบแทนสูง
> แต่แอปนี้ไม่รับเงินบาท จึงแนะนำให้เปิดบัญชีและซื้อคริปโทสกุลดังใน exchange ต่างประเทศ
> จากนั้นให้โอนคริปโทที่ซื้อไว้ มาเข้าแอปที่ระบุไว้
> แนะนำให้ซื้อขายคริปโทตามช่วงเวลาที่บอก โดยอ้างว่าจะได้กำไรมาก
ในช่วงแรกผู้เสียหายลงเงินทีละน้อย และยังสามารถถอนกำไรออกมาได้ตามปกติ มิจฉาชีพก็จะเชียร์ให้ใส่เงินเข้าไปเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงจุดหนึ่งที่ผู้เสียหายอยากถอนเงินออกมาจากแอป แต่ถอนไม่ได้ และติดต่อมิจฉาชีพรายนั้นไม่ได้อีก
มิจฉาชีพรายที่ 2
> ขั้นแรกให้เปิดบัญชีคริปโทกับ exchange ในประเทศไทย
> ให้ซื้อคริปโทสกุลดังเข้า wallet ของเหยื่อเอง
> จากนั้นให้เปิดบัญชีกับ exchange เป้าหมายซึ่งอยู่ในต่างประเทศ สมมติว่าชื่อ exchange P
> แนะนำให้โอนคริปโทจาก wallet ในประเทศไปเข้าบัญชีใน exchange P
> จากนั้นให้นำคริปโทใน exchange P ไปแลกเป็นเหรียญอันใหม่ สมมติว่าชื่อ เหรียญ PT ซึ่งมิจฉาชีพอ้างว่าเหรียญ PT เป็นคริปโทใหม่ที่มีอนาคตไกล
> มิจฉาชีพแนะนำให้แลกเหรียญ PT สะสมไว้เรื่อย ๆ
จนกระทั่ง เมื่อต้องการถอนเงินออก ปรากฏว่า ไม่สามารถถอนเงินได้ และยังพบว่า มูลค่าเหรียญ PT นั้นหายไป เมื่อทวงถามไปยังมิจฉาชีพที่แนะนำ กลับลบแอคเค้าท์ที่พูดคุยออกไปแล้ว และติดต่อไม่ได้อีก
ขอให้ทั้ง 2 กรณีนี้ เป็นอุทาหรณ์เตือนใจสำหรับผู้ที่สนใจซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี ให้ระมัดระวังกลโกงสารพัดรูปแบบ จากหลากหลายช่องทางที่อาจเข้ามาถึงเราโดยไม่ทันระวังตัว เพราะมิจฉาชีพมักจะอาศัยจังหวะเวลาหรือช่วงที่เรากำลังยากลำบาก โดยเข้ามาตีสนิท หลอกให้เชื่อใจ แล้วชักชวนให้ซื้อขายคริปโทที่ไม่รู้จัก หรือซื้อขายในแพลตฟอร์มที่ไม่คุ้นเคย
เพราะฉะนั้นหากมีใครมาชักชวนลงทุน หรือ ซื้อขายอะไรก็ตามที่ไม่คุ้นเคยโดยอ้างว่าให้ผลตอบแทนสูงมากในเวลารวดเร็ว ต้องฉุกคิดไว้ก่อนเลยว่า อาจเป็นการหลอกลวง และหากสนใจซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลสามารถศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจได้จากคอร์สให้ความรู้พื้นฐาน“คริปโท 101” ทางเฟซบุ๊กเพจ สำนักงาน กลต. และเพจ Start-to-invest ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 16.00 - 16.30 น. หรือรับชมย้อนหลังได้ที่ YouTube : ThaiSEC https://www.youtube.com/playlist...
นอกจากนี้ หากไม่มั่นใจสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับอนุญาตทางเว็บไซต์ ก.ล.ต. www.sec.or.th/digitalasset หรือทางแอปพลิเคชั่น SEC Check First และหากพบเบาะแสหรือพฤติกรรมไม่น่าไว้วางใจ สงสัยว่าอาจจะหลอกลวงให้ลงทุน สามารถแจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนได้ที่ “ศูนย์บริการประชาชน สำนักงาน ก.ล.ต.” โทร 1207 หรือผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊กเพจ “สำนักงาน กลต.” และ SEC Live Chat ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. www.sec.or.th ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
บทความโดย : ฝ่ายส่งเสริมความรู้ตลาดทุนและศูนย์ประสานงานต่างจังหวัด
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)