อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 31.17 บาท/ดอลลาร์“อ่อนค่า”ลงเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 31.15 บาทต่อดอลลาร์มองกรอบวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 31.15-31.25 บาท/ดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยระบุ แนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจมีแนวโน้มอ่อนค่าลงเล็กน้อยในช่วงเช้า ตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ แต่เงินบาทก็อาจกลับมาแข็งค่าขึ้นได้จากแรงซื้อหุ้นและบอนด์สุทธิจากนักลงทุนต่างชาติ ทำให้ เราคงมองว่า เงินบาทยังคงมีแนวโน้มทรงตัวในกรอบ 31.10 - 31.30 บาทต่อดอลลาร์ เพราะ หากเงินบาทอ่อนค่าลงตามการแข็งค่าของ เงินดอลลาร์ ก็อาจเผชิญแรงซื้อจากฝั่งผู้ส่งออกที่รอทยอยขายเงินดอลลาร์ ทำให้เงินบาทยังไม่สามารถอ่อนค่าไปมากกว่า ระดับ 31.30 บาทต่อดอลลาร์ได้ นอกจากนี้ ในระยะสั้น นักลงทุนต่างชาติก็เริ่มเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทยสุทธิ ช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น ตามความหวังการการแจกจ่ายวัคซีนในไทย
อย่างไรก็ดี เรามองว่า ควรติดตามแนวโน้มการแจกจ่ายวัคซีน และ สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติและทิศทางฟันด์โฟลว์ต่างชาติในฝั่งหุ้นไทยได้ และอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยกำหนดทิศทางของเงินบาทในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ได้
ตลาดการเงินโดยรวมยังคงอยู่ในภาวะระมัดระวังตัว เนื่องจากผู้เล่นส่วนใหญ่ต่างรอคอรายงานข้อมูลเงินเฟ้อสหรัฐฯ ในวันนี้ รวมถึงผลการประชุม FOMC ในสัปดาห์หน้า สะท้อนผ่านการที่ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ติดแนวต้านและเผชิญแรงขายทำกำไรต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังได้รับแรงหนุนจากหุ้นในกลุ่มเทคฯ ที่ปรับตัวขึ้นมาเล็กน้อย โดยเฉพาะหุ้นเทคฯขนาดใหญ่ อย่าง Apple +0.31%, Amazon +0.52% และ Microsoft +0.40% หลังจากที่ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงกว่า 4bps สู่ระดับ 1.49% ทำให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลงเพียง -0.09% ขณะที่ ดัชนี S&P500 และ ดัชนี Dowjones ปิดลบกว่า -0.18% และ -0.44% ตามลำดับ จากแรงเทขายหุ้นในกลุ่มการเงินเป็นหลัก (JPM -1.25%) หลังตลาดมองว่า บอนด์ยีลด์ที่ปรับตัวลดลง อาจกดดัน Net Interest Margin (NIM) ของบริษัทการเงินได้
ส่วนในฝั่งยุโรป แม้ว่าตลาดหุ้นยุโรปจะเผชิญแรงเทขายหุ้นกลุ่มการเงินเช่นเดียวกับในฝั่งสหรัฐฯ (ING -1.5%, BNP -0.8%) แต่โดยรวม หุ้นในกลุ่มเทคฯ ก็สามารถพยุงตลาดไว้ได้ (Amadeus +3.6%, Adyen +1.4%, ASML +1.0%) ทำให้ ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปรับตัวขึ้นราว 0.02%
ทางด้านตลาดบอนด์ เห็นได้ชัดว่า ผู้เล่นส่วนใหญ่อาจไม่ได้กังวลต่อปัญหาการเร่งตัวขึ้นของเงินเฟ้อมากนัก และมองว่า เฟดก็น่าจะคงมุมมองเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นชั่วคราวต่อไปในการประชุมที่จะถึงนี้ กอปรกับ ผลการประชุมบอนด์ระยะยาวที่ออกมาดีเกินคาด ทำให้ ผู้เล่นในตลาดกล้าที่จะเพิ่มสถานะถือครอง บอนด์ระยะยาว ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลงกว่า 4bps สู่ระดับ 1.49% นอกจากนี้ แรงซื้อบอนด์ ยังมาจากการปิดสถานะ Short บอนด์ระยะยาว (Short covering) หลังจากในตอนแรกตลาดกลัวว่าเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น อาจทำให้เฟดปรับลดคิวอีได้ไวและกดดันให้บอนด์ยีลด์อาจพุ่งขึ้น
ฝั่งตลาดค่าเงิน ผู้เล่นในตลาดการเงินเริ่มมีการเตรียมรับมือกับความผันผวนในตลาดการเงินที่อาจเพิ่มสูงขึ้นจากรายงานข้อมูลเงินเฟ้อสหรัฐฯในวันพฤหัสฯ ส่งผลให้เงินดอลลาร์ซึ่งมักถูกใช้เป็นหลุมหลับภัยชั่วคราว (Safe Haven asset) แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 90.146 จุด โดยล่าสุด เงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.218 ดอลลาร์ต่อยูโร ทั้งนี้ การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ ก็ได้กดดันให้ราคาทองคำยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 1,900 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้ แม้ว่าบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ จะย่อตัวลงมากว่า 4bps ก็ตาม ทำให้ ราคาทองคำยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 1,890 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สำหรับวันนี้ เรามองว่า ตลาดการเงินจะอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวและผู้เล่นบางส่วนก็อาจเดินหน้าขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยง พร้อมกับเพิ่มสถานะการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย อย่าง เงินดอลลาร์ เพื่อเตรียมรับมือกับรายงานข้อมูลเงินเฟ้อในวันพฤหัสฯ ที่อาจสร้างความผันผวนให้กับตลาดการเงินในระยะสั้นได้ โดยเรามองว่า การปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ กว่า 4bps สู่ระดับ 1.49% ก่อนรายงานตัวเลขเงินเฟ้อ (CPI) อาจนำไปสู่ความผันผวนในตลาดการเงินได้ หากเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นมากกว่าที่ตลาดประเมินไว้ที่ระดับ 4.7% อาทิ เช่น เงินเฟ้อทั่วไป เร่งตัวขึ้นมากกว่า 5% ก็อาจสร้างความกังวลเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น รวมถึงความกังวลว่าเฟดอาจลดการอัดฉีดสภาพคล่องไวขึ้น ทำให้ ผู้เล่นในตลาดบอนด์อาจกลับมาขายทำกำไรและลดสถานะถือครองบอนด์สหรัฐฯ 10ปี ลง ซึ่งจะส่งผลให้ ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นได้ ขณะที่ หากเงินเฟ้อออกมาต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ หรือ สูงกว่าคาดเล็กน้อย ก็อาจทำให้ ตลาดไม่ได้กังวลปัญหาเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น ซึ่งภาพดังกล่าว จะทำให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ สามารถแกว่งตัวในกรอบระดับ 1.50% ได้ต่อ และตลาดก็อาจเริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มเทคฯ เติบโตสูง ที่น่าจะเริ่มกลับมาปรับตัวขึ้นได้ดีขึ้น
และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเงินเฟ้อในฝั่งสหรัฐฯ ตลาดจะติดตามผลการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยเรามองว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะยังคงใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไป ทั้งคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อาทิ Deposit Facility Rate ที่ระดับ 0.50% พร้อมกับเดินหน้าซื้อสินทรัพย์อย่างน้อย 8.5 หมื่นล้านยูโร ต่อเดือน เพื่อช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า อัตราแลกเปลีี่ยนค่าเงินบาทเช้านี้ (10 มิ.ย.) ขยับแข็งค่ามาที่ระดับประมาณ 31.13-31.14 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 31.16 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเล็กน้อย ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลงตามทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ โดยบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ อายุ 10 ปี ร่วงลงต่ำกว่าแนว 1.50% แล้วเมื่อวานนี้
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดไว้ที่ 31.10-31.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยติดตามจะอยู่ที่สถานการณ์โควิด 19 และแผนการจัดหาวัคซีนของไทย ตลอดจนข้อมูลยอดปล่อยกู้สกุลเงินหยวนเดือนพ.ค. ของจีน ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ตลอดจนข้อมูลจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนพ.ค. ของสหรัฐฯ