โควิดฉุดเศรษฐกิจไทยปีนี้โตเหลือ 1.8%กนง.จับตา ไวรัสกลายพันธ์กับการกระจายวัคซีน-ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเศรษฐกิจ4-6เดือนข้างหน้า -คงดอกเบี้ยนโยบาย0.50%ต่อปี ห่วงภาคธุรกิจและครัวเรือนกลุ่มเปราะบางสายป่านสั้น โดยเฉพาะตลาดแรงงานมีโอกาสฟื้นตัวช้า-ยืดเยื้อกว่าวิกฤติการเงินโลกและน้ำท่วมใหญ่ปี2554
นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ในวันที่ 23 มิถุนายน 2564 โดยระบุว่า คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี สาเหตุการระบาดระลอกที่สามของ COVID-19 ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าลงและไม่ทั่วถึงมากขึ้นเทียบกับประมาณการเดิม อีกทั้งในระยะข้างหน้ายังมีแนวโน้มเผชิญความเสี่ยงด้านต่ำอย่างมีนัยสำคัญจากสถานการณ์การระบาดระลอกใหม่ แต่คณะกรรมการกนง.ได้ปรับลดประมาณการ เศรษฐกิจ(จีดีพี)จากเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา โดยปีนี้จีดีพีเหลือโต 1.8%จากเดิมคาดไว้ที่ 3.0%บนสมมติฐานการควบคุมการระบาดของโควิดในไตรมาส 3 และเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ต้นปี 2565 และจีดีพีในปีหน้าเหลือโต 3.9%จากเดิม 4.7% หากการระบาดของโควิดยืดเยื้อกว่าที่คาดไว้เศรษฐกิจจะขยายตัวต่ำกว่าคาดได้อีก ทั้งนี้เศรษฐกิจโดยรวมขยายตัวชะลอลงจากเดิม เนื่องจากการระบาดโควิดยืดเยื้อและรุนแรงมากขึ้น และยังมีความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจด้านต่ำอย่างมีนัยสำคัญจากแนวโน้มของการกลายพันธุ์ของไวรัส โจทย์สำคัญตอนนี้คือ เรื่องการจัดหาและการกระจายวัคซีนที่เหมาะสม เพียงพอและทันการณ์
มองไปข้างหน้าระยะสั้น 4-6เดือนเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของเศรษฐกิจไทย ซึ่งเป็นการแข่งขันกันระหว่างไวรัสกลายพันธุ์กับการจัดหาวัคซีนที่เหมาะสม เพียงพอและทันการณ์ โดยภาคธุรกิจและครัวเรือนมีความเปราะบางและสายป่านสั้นขึ้น ดังนั้นมาตรการทุกอย่างของภาครัฐรวมทั้งธปท.คงต้องเน้นผลักดันให้มาตรการที่มีอยู่แล้วให้เกิดผลในทางปฎิบัติได้จริง ไม่ว่ามาตรการสินเชื่อฟื้นฟูหรือมาตรการอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม หากสามารถควบคุมการระบาดของไวรัสและผ่านพ้นช่วงระยะสั้นไปได้จะเห็นสัญญาณที่ดีขึ้น ประเด็นแรกคือ หากควบคุมการระบาดได้ การบริโภคจะปรับตัวดีขึ้นบ้าง จากการอั้นมาในอดีต เช่นคนไทยเที่ยวในประเทศมากขึ้น เมื่อควบคุมการระบาดได้ดี ขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวต่างประเทศสามารถเข้ามาได้ในจำนวนมากขึ้นทำให้เศรษฐกิจค่อยๆฟื้น ที่สำคัญ ถ้าควบคุมการระบาดของไวรัสได้ ภาคเศรษฐกิจที่เปราะบางต่างๆจะได้รับแรงกระตุ้น มีรายได้เพิ่ม ลดความเปราะบางของกลุ่มภาคบริการและครัวเรือนบางกลุ่ม
ทั้งนี้ ความเสี่ยงต่อการประมาณการจีดีพีในระยะข้างหน้า ขึ้นอยู่กับ การระบาดของไวรัสทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งทางคณะกรรมการจะจับตาอย่างใกล้ชิด เช่น ประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวในปีนี้ ธปท.ปรับลดเหลือ7แสนคนในปีนี้จากเดิมคาดไว้กว่า 3ล้านคน ถ้าหากหารระบาดยืดเยื้อกว่าคาดตัวเลขดังกล่าวอาจจะปรับลดลงอีก เช่นเดียวกับ มาตรการภาครัฐในต่างประเทศก็อาจจำกัดไม่ให้นักท่องเที่ยวเดินทางออกนอกประเทศ จึงอาจทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศในปีหน้ามีความเสี่ยงด้านต่ำจากที่ธปท.ประมาณการไว้ 10ล้านคน นอกจากนี้การระบาดของไวรัสกระทบกิจกรรมภายในประเทศ เช่น ไทยเที่ยวไทย และกระทบการบริโภคของภาคเอกชนด้วย
“การระบาดระลอก 3ของโควิดที่ยืดเยื้อ มีผลกระทบต่อตลาดแรงงานอย่างมีนัยสำคัญ โดยตลาดแรงงาน (เทียบวิกฤติการเงินโลกปี 2551 หรือวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ปี 2554) แนวโน้มการฟื้นตัวรอบนี้จะช้ากว่าและมีแนวโน้มจะเป็นลักษณะ W- Shape ยืดเยื้อกว่าในอดีต เช่นเดียวกับแรงงานจบใหม่มีแนวโน้มหางานยากขึ้นและผู้ว่างงานระยะยาวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เหล่านี้ต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดแผลเป็น หากดูแลไม่ทันจะเกิดปัญหาในช่วงต่อไป”
นายทิตนันท์กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกนง.ยังมีความสนใจเงินเฟ้อต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว เช่น สหรัฐ จีน ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้น ปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลต่อเงินเฟ้อไทยไม่มากนัก เพราะตะกร้าเงินเฟ้อมีการนำเข้าเพียง 16%ส่วนใหญ่เป็นน้ำมัน แต่ราคาสินค้าโลหะหรือปัจจัยอุปทานส่วนใหญ่จะกระทบต้นทุนการผลิต สะท้อนจากราคาผู้ผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่วนราคาเงินเฟ้อทั่วไปปรับตัวขึ้นบ้างแต่เป็นปัจจัยชั่วคราวจากฐานที่ต่ำ เพราะราคาน้ำมันมีแนวโน้มจะปรับลดลง ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน(ไม่รวมน้ำมัน,อาหารสด)อยู่ในระดับต่ำ มองไปข้างหน้า เงินเฟ้อคาดการณ์ไตรมาสสองสูงขึ้นและมีแนวโน้มจะค่อยๆปรับลดลงในปีหน้า