ปี 2562 ประเทศไทยมียอดผลิตรถยนต์ประมาณ 2 ล้านคัน และปีนี้กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) คาดว่าจะลดลงเหลือ 1.9 ล้านคัน ซึ่งเป็นการประเมินในเดือนมีนาคม 2563 ช่วงที่ไวรัสโควิด-19 เริ่มลุกลามขยายวงไปทั่วโลก
อุตสาหกรรมยานยนต์ ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทย คิดเป็นมูลค่า 5.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ขณะที่การส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป เครื่อง ยนต์ ชิ้นส่วนอื่น ๆ อะไหล่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ชิ้นส่วน และอะไหล่รถจักรยานยนต์ มีมูลค่ากว่า 8.59 แสนล้านบาท (ข้อมูลปี 2562)
การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลโดยตรงต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลก ขณะที่โรงงานผลิตรถยนต์ในไทยหยุดการผลิตชั่วคราวตลอดเดือนเมษายนนี้ ทั้ง โตโยต้า ฮอนด้า อีซูซุ มิตซูบิชิ นิสสัน มาสด้า ซูซูกิ และฟอร์ด
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ (ส.อ.ท.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กลุ่มอุตสาห กรรมยานยนต์ อาจปรับลดเป้าหมายการผลิตรถยนต์ในประเทศ เบื้องต้นหากเหตุการณ์จบภายใน 2-3 เดือนนี้ ยอดต่างๆ อาจจะหายไปประมาณ 30% หรือแบ่งเป็นการขายในประเทศ 7 แสนคัน และส่งออก 7 แสนคัน รวม 1.4 ล้านคัน แต่หากมองในมุมที่เลวร้ายที่สุด ทุกอย่างยืดเยื้อ กำลังผลิตรวมอาจจะเหลือแค่ 1 ล้านคัน โดยแบ่งเป็นส่งออก 5 แสนคัน และขายในประเทศ 5 แสนคัน
ปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทย มีแรงงานอยู่ในระบบ 7.5 แสนคน (รวมทั้งระบบซัพพลายเชน อาทิ ผู้ผลิตรถยนต์, ผู้ผลิตชิ้นส่วน เหล็ก, ยาง, ผ้าใบ,ตัวแทนจำหน่าย พนักงานขาย พนักงานบริการ, อู่หรือศูนย์ซ่อมทั่วไป) ถ้าสถานการณ์ยังยืดเยื้อออกไป อาจจะทำให้เกิดการเลิกจ้างบางส่วน เพราะผู้ผลิตรถยนต์ หรือ บริษัทชิ้นส่วนต่างๆ มีแต่รายจ่ายแต่ไม่มีรายรับเข้ามา ส่วนจะเลิกจ้างแรงงานจำนวนเท่าไรนั้นยังประเมินไม่ได้ เพราะขึ้นอยู่กับสายป่านของแต่ละบริษัท และการบริหารจัดการจะเป็นอย่างไร
“โควิด -19 ถือว่ารุนแรงกว่าต้มยำกุ้ง เพราะกระทบทั้งโลก และยังไม่มีวัคซีน ไม่รู้ว่าเหตุการณ์ต่างๆ จะจบเมื่อไหร่ ซึ่งสิ่งที่อยากให้ภาครัฐช่วยกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ในตอนนี้คือ ทำอย่างไรให้สร้างอำนาจซื้อขึ้นมาเพื่อให้เกิดการจับจ่าย
ใช้สอย” นายสุรพงษ์ กล่าว
ขณะที่กำลังผลิตรถยนต์ไตรมาสแรกปี 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 453,682 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 19.2%
นายสุรศักดิ์ สุทองวัน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ส่งผลต่อการดำเนินชีวิต การทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ความสนใจในการซื้อรถใหม่จึงชะลอตัว และผู้บริโภคยังคงระมัดระวังการใช้จ่าย
สำหรับตลาดรถยนต์เดือนมีนาคม 2563 ขายได้ 60,105 คัน ลดลง 41.7% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยตลาดรถยนต์นั่งลดลง 48.3% และรถเพื่อการพาณิชย์ลดลง 37.6% ส่วนตลาดรถยนต์สะสม 3 เดือน (ม.ค.-มี.ค.63) ทำได้ 200,064 คัน ลดลง 24.1%
“ค่ายรถยนต์ต่างๆ ยังคงพยายามหามาตรการเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยเฉพาะการนำเสนอผลิตภัณฑ์และกิจกรรมส่งเสริมการขายให้กับลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ ดังนั้นแนวโน้มของตลาดรถยนต์ในเดือนเมษายนยังคงต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด” นายสุรศักดิ์ กล่าวสรุป
ทั้งนี้ ยอดขายไตรมาสแรกปี 2563 “โตโยต้า” ทำได้ 56,161 คัน ลดลง 34.9% อันดับ 2 “อีซูซุ” 42,398 คัน ลดลง 5.6% อันดับ 3 “ฮอนด้า” 28,678 คัน ลดลง 4.4% ส่วนค่ายรถยนต์อื่นๆ ตัวเลขตกกันถ้วนหน้า มีเพียง “ซูซูกิ” ที่ขายได้ 6,529 คัน โต 15.1% สวนทางตลาด
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,569 วันที่ 26 - 29 เมษายน พ.ศ. 2563