ยอดขายรถยนต์ปี 2563 ฮอนด้าแชมป์เก๋ง อีซูซุเจ้าตลาดปิกอัพ

18 ม.ค. 2564 | 00:30 น.

ตลาดรถยนต์ปี 2563 ปิดยอดขายกว่า 7.9 แสนคัน ลดลง 20% เมื่อเทียบกับปี 2562 อีซูซุ ถล่ม โตโยต้า ครองแชมป์ปิกอัพเมืองไทย ฮอนด้า ยังกอดอันดับหนึ่งเซ็กเมนต์รถยนต์นั่ง

อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ผ่านปีที่ยากลำบากจากวิกฤติไวรัสถล่มโลก ยอดผลิตลดจาก 2 ล้านคันในปี 2562 เหลือตํ่ากว่า 1.5 ล้านคันในปี 2563 ขณะที่โรงงานรถยนต์ปรับแผนการผลิตให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เช่น ให้พนักงานลดเวลาทำงาน เพิ่มวันหยุด บางรายเปิดโครงการสมัครใจลาออก เช่นเดียวกับฝั่งสำนักงานใหญ่ ที่ขยับโครงสร้างองค์กร ปรับวิถีการทำงานใหม่ ส่วน ยอดขายรถยนต์ปี 2563 รอโตโยต้ารวบรวมและรายงานอย่างเป็นทางการ

ทว่ามีตัวเลขจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์อย่าง มาสด้า และซูซูกิ ยืนยันตรงกันว่า ปี 2563 ตลาดรวมปิดได้กว่า 7.9 แสนคัน ลดลงประมาณ 20% เมื่อเทียบกับปี 2562 (1.007 ล้านคัน) นั่นหมายความว่า เดือนธันวาคมเดือนเดียว ตลาดรวมขายได้ถึง 1 แสนคัน สูงสุดในรอบปี

ขณะที่เจ้าตลาดปิกอัพ ตกเป็นของอีซูซุ ที่ 11 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-พ.ย.63) ทิ้งห่างโตโยต้า เกือบ 3 หมื่นคัน  (ไม่รวมพีพีวี) หมดโอกาสที่โตโยต้าจะไล่แซง ส่วน ยอดขายรวมทั้งปี 2563 ของอีซูซุ(ทุกรุ่น) ทำได้กว่า 1.8 แสนคัน โต 8% เมื่อเทียบกับปี 2562 

ส่วนแชมป์รถยนต์นั่งเป็นของฮอนด้า อีกสมัย ด้วยตัวเลข 93,041 คัน มีส่วนแบ่งการตลาดในเซ็กเมนต์รถยนต์นั่ง 27.5% แต่ยอดขายลดลง 26% เมื่อเทียบกับปี 2562 

นายพิทักษ์ พฤทธิสาริกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารปฏิบัติการ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจซื้อสินค้า และทำให้ตลาดรถยนต์ชะลอตัว แต่ ปี 2563 ฮอนด้าทำยอดขายได้ 93,041 คัน โดยมีอัตราเติบโตดีกว่าภาพรวมตลาดรถยนต์นั่งในปี 2563 และช่วงปลายปีที่ผ่านมา บริษัทเปิดตัวรถยนต์ 2 รุ่นใหม่ คือ Honda City Hatchback และ Honda City e : HEV ซึ่งได้การตอบรับเป็นอย่างดี เพราะหลังเปิดตัวไม่ถึง 1 เดือน ปัจจุบันมียอดจองรวมกว่า 5,000 คัน (24 พฤศจิกายน 2563-10 มกราคม 2564)

นอกจากนี้ ฮอนด้ายังครองอันดับ 1 ใน 4 เซ็กเมนต์หลัก ได้แก่ กลุ่มรถซับคอมแพกต์ และอีโคคาร์ Honda City และ Honda Jazz ทำยอดขายรวม 51,375 คัน

ยอดขายรถยนต์ปี2563

กลุ่มคอมแพกต์ Honda Civic 20,009 คัน กลุ่มรถยนต์นั่งขนาดกลาง (D-segment) Honda Accord 5,265 คัน และเอสยูวีขนาดใหญ่ Honda CR-V 5,374 คัน

ด้านมาสด้า ยอมรับว่า ยอดขายรถยนต์ปี 2563 ตกเหลือ 39,266 คัน ลดลง 32% แต่ถือเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในประเทศกลุ่มอาเซียนและตลาดเกิดใหม่ ในจำนวนนี้แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง 24,839 คัน เอสยูวี 11,716 คัน และปิกอัพ 2,711 คัน

ทั้งนี้ เดือนธันวาคมที่ผ่านมา มาสด้า ขยับยอดขายขึ้นมาได้อย่างน่าสนใจ โดยทำได้ 5,253 คัน สูงสุดในรอบปี แบ่งเป็น Mazda2 จำนวน 3,084 คัน (ยอดขายสูงสุดในรอบปี) Mazda CX-30 จำนวน 936 คัน (ยอดขายสูงสุดนับแต่เปิดตัว) Mazda CX-3 จำนวน 457 คัน (ยอดขายสูงสุดในรอบ 2 ปี) Mazda3 จำนวน 391 คัน Mazda CX-8 จำนวน 260 คัน และ Mazda CX-5 จำนวน 124 คัน

“สุดท้ายแล้วตัวเลขรวมของอุตสาหกรรมทั้งปี 2563 อยู่ที่ประมาณ 7.9 แสนคัน ลดลงประมาณ 20% ส่วนมาสด้าเคยตั้งเป้าไว้ที่ 50,000 คัน แต่เนื่องจากเกิดการระบาดของโควิด-19 ทำให้แนวโน้มและทิศทางเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามคาดการณ์ เมื่อกลาง ปี 2563 มาสด้าได้ปรับเป้าการขายเหลือ 45,000 คัน แต่สุดท้ายสามารถคว้ายอดขายรวมได้ที่ 39,266 คัน หรือลดลงประมาณ 32% ซึ่งตํ่ากว่าเป้าที่ตั้งไว้” นายชาญชัย ตระการอุดมสุข ประธานบริหาร บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว และว่า

ปี 2564 คาดว่าตลาดรถยนต์จะมียอดรวมประมาณ 8.4 แสนคัน แต่ยังคงต้องจับตา สถานการณ์การระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 จะส่งผลมากน้อยแค่ไหนต่อภาพรวมประเทศไทย ในส่วนมาสด้า มองเป้าขายไว้ 50,000 คัน ครองส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 6% และภายในไตรมาสแรกปี 2564 เตรียมเปิดตัวปิกอัพ All-new Mazda BT-50” นายชาญชัย กล่าว 

 

หน้า 15 หนังสือฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,645 วันที่ 17 - 20 มกราคม พ.ศ. 2564