ไทย สู้ อินโดนีเซีย ศูนย์กลางผลิตแบตเตอรี่ EV อาเซียน

07 พ.ค. 2564 | 02:50 น.
อัปเดตล่าสุด :07 พ.ค. 2564 | 09:49 น.

รัฐบาลหนุนเอกชนไทย สร้างโรงงานแบตเตอรี่ รองรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า EV ปักธงเป็นฮับอาเซียนสู้อินโดนีเซีย

ตามนโยบายของรัฐบาลมุ่งสนับสนุนให้เกิดการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า xEV (ไฮบริด,ปลั๊ก-อินไฮบริด,อีวี,ฟิวเซลล์) พร้อมพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ที่กำลังก้าวสู่เทคโนโลยีใหม่ และเป็นรากฐานสำคัญของระบบเศรษฐกิจ ส่วนประเด็นบอร์ดอีวี วางแผนให้ตลาดในประเทศต้องขาย EV 100% ในปี 2578 เป็นเพียงการตั้งเป้าปักธง คงต้องพูดคุยในวิธีปฏิบัติกันอีกหลายฝ่าย

ช่วงเปลี่ยนผ่าน จากการผลิตรถยนต์แบบเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ไปสู่ฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า EV ต้องขับเคลื่อนไปทั้งองคาพยพ ทั้งบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ โรงงานผู้ผลิตชิ้นส่วนหลายระดับ และเพื่อความยั่งยืน จำเป็นต้องสร้างให้เกิดการ ผลิตชิ้นส่วนสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ เช่น มอเตอร์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ และสมองกลควบคุมกระแสไฟฟ้า ดังนั้น รัฐบาลโดยคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน BOI และคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก EEC ต่างเตรียมแพกเกจเพื่อจูงใจนักลงทุนจากทั่วโลก

ในส่วนผู้ประกอบการสัญชาติไทย มี 3 รายหลักที่ประกาศตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่EV เพื่อรองรับการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ทั้ง GPSC ธุรกิจพลังงานไฟฟ้าในเครือ ปตท. และ EA บริษัทพลังงานบริสุทธิ์ รวมถึงสวนอุตสาหกรรมโรจนะที่ร่วมมือกับ EVLOMO จากสหรัฐอเมริกา โดยตั้งโรงงานกระจายใน 3 จังหวัด EEC คือ ระยอง ฉะเชิงเทรา และชลบุรี ตามลำดับ

โรงงานผลิตแบตเตอรี่ EV ในไทย

สำหรับ GPSC หรือ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ประกาศความพร้อม เตรียมนำแบตเตอรี่เทคโนโลยี Semi-Solid หรือ G-Cell มาต่อยอด โดยร่วมมือกับ 9 บริษัทพันธมิตร พัฒนาชุดแพคแบตเตอรี่ต้นแบบ รวมถึงวางระบบสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ (Battery Swapping System) แบตเตอรี่เทคโนโลยี Semi-Solid ของ GPSC มีจุดเด่นเรื่องการระบายความร้อน ลดเวลาการอัดประจุไฟฟ้า มีความปลอดภัยเหมาะกับการนำมาให้บริการ สับเปลี่ยนแบตเตอรี่ (ไม่ต้องรอชาร์จไฟฟ้า) โดยมีแผนติดตั้งในยานยนต์พลังงานไฟฟ้า EV ทั้ง รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า และรถยนต์ไฟฟ้า

ทั้งนี้ แผนงานระยะที่สอง GPSC เตรียมผลิตชุดแบตเตอรี่เพื่อนำไปติดตั้งในยานยนต์ไฟฟ้าEV ประเภทต่างๆ รวมทั้งการจัดตั้งสถานีการเปลี่ยนแบตเตอรี่ที่สถานีชาร์จไฟฟ้า (Battery Swapping Station) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มใหม่ในการให้บริการผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า ดำเนินการโดย ฟอมม์มิวนิตี้ และ เอเชีย เทคโนโลยี อินดัสทรีส์

GPSC มีโรงงานผลิตแบตเตอรี่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุต จ.ระยอง โดยเฟสแรกวางกำลังการผลิตไว้ 30 เมกะวัตต์ชั่วโมง จากนั้นในปี 2566 จะเพิ่มเป็น 1,000 เมกะวัตต์ชั่วโมง หรือ 1 GWh (กิกะวัตต์ชั่วโมง)

ขณะที่ EVLOMO บริษัทจากสหรัฐอเมริกา ร่วมมือกับ บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) ลงทุน 3,300 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ ที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี โดยกำลังการผลิตเฟสแรกปี 2566 วางไว้ 1 GWh และตั้งเป้าเพิ่มถึง 8 GWh ในอนาคต ซึ่งโครงการนี้ สวนอุตสาหกรรมโรจนะ ถือหุ้น 55% และ EVLOMO ถือหุ้น 45%

ด้าน บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) EA เริ่มต้นผลิตแบตเตอรี่EV ด้วยกำลังการผลิต 1 GWh ส่วนใหญ่เพื่อป้อนยานยนต์ของตนเอง ทั้งรถยนต์นั่งอีวี (แบรนด์ “ไมน์”) รถบัสอีวี และเรือโดยสารในแม่นํ้าเจ้าพระยา ล่าสุดประกาศงบลงทุนปี 2565 รวม 6,100 ล้านบาทแบ่งเป็นการลงทุนในธุรกิจพลังงานสัดส่วน 46% ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า25% ธุรกิจแบตเตอรี่20% ธุรกิจสถานีชาร์จ7 %และ2% สำหรับลงทุนโครงการใหม่

อย่างไรก็ตาม นอกจากประเทศไทยที่หวังเป็นฐานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว ประเทศอื่นๆ ในอาเซียน ต่างดำเนินกลยุทธ์เพื่อดึงนักลงทุนเช่นกัน อย่างอินโดนีเซีย ได้เปรียบจากภูมิศาสตร์ทรัพยากร เพราะมี แหล่งแร่นิกเกิล ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า

ปัจจุบันบริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่ระดับโลก เช่น CATL ของจีน และ LG จากเกาหลีใต้ ซัพพลายเออร์สำคัญของเทสล่า ต่างวางแผนเข้ามาลงทุนในอินโดนีเซีย (แต่เทสล่า หรือ อีลอน มัสก์ ยังไม่ยืนยันว่าจะตั้งโรงงานผลิตรถที่นี่) ไม่นับรวมบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่ประกาศแผนลงทุนในโครงการรถยนต์ไฟฟ้าไปก่อนหน้านี้ คือ ฮุนได และโตโยต้า นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 หน้า 8 ฉบับที่ 3,676 วันที่ 6 - 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2564