ขณะที่ผลสำรวจโดยศูนย์วิจัย Mobility and Vehicle Technology Research Center (MOVE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ต่อเรื่องประเทศไทยจะยกเลิกขายยานยนต์เครื่องยนต์ภายในปี ค.ศ. 2035 พบว่า มีคนให้ความเห็นถึง 31% ว่า เป้าหมาย Stated Policies Scenario EV ของไทย ยังช้าเกินไป
รศ.ดร.ยศพงษ์ ลออนวล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาความยั่งยืนและหัวหน้าศูนย์วิจัย MOVE เปิดเผยว่า นอกจากภาคประชาชนจะเริ่มตื่นตัว ในเรื่องการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเเล้ว ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในสังคมที่จะนำไปสู่เป้าหมายเดียวกัน ทั้ง ภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญเนื่องจากเป็นผู้กำหนดนโยบาย แก้ไขกฎระเบียบ และ ภาครัฐสามารถร่วมมือกับภาคส่วนอื่นๆ รวมทั้งการริเริ่มโครงการต่างๆ หรือทำให้เกิดธุรกิจใหม่ (Start up)
ส่วนภาควิชาการจะมีบทบาทสำคัญในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและบุคลากรของประเทศ ขณะที่ภาคเอกชน จะต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ใช้งานได้จริง โดยมีราคาที่เหมาะสม
เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้งานที่เหมาะสม รวมทั้งการปรับตัวของผู้ประกอบการไทย ที่ต้องเริ่มเเสวงหาโอกาสในอุตสาหกรรมใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น
“EV มาเร็วกว่าที่เราคิด เมื่อก่อนคาดว่าราคาจะลงมาเท่ากับรถยนต์เครื่องยนต์ ภายในปี 2025 แต่ดูเหมือนมันจะมาเร็วกว่านี้ เหตุผลหลักมาจากราคาแบตเตอรี่ลดลง และมีการทำนายว่าถ้าราคาเฉลี่ยตํ่ากว่า $100 / kWh (ประมาณ 3,200 บาท/ kWh ) จะทำให้ราคารถไม่แตกต่างกัน ซึ่งราคา EV ที่ลดลงประชาชนคงจะได้ประโยชน์ แต่ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวให้เร็วขึ้น”รศ.ดร.ยศพงษ์ กล่าว
ล่าสุด BloombergNEF เผยผลวิจัยว่า อีก 5 ปี EV ราคาจะถูกกว่าหรือลงมาเท่ากับรถเครื่องยนต์สันดาปภายใน ICE เมื่อเทียบกับรถเซกเมนต์เดียวกัน โดยใช้ฐานข้อมูลจากรถยนต์ไฟฟ้าในยุโรป ที่คาดว่าอีก 10 ปีข้างหน้า ราคาแบตเตอรี่จะลดลงจากปัจจุบันถึง 58% จากราคาแบตเตอรี่ประมาณ 4,000 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง kWh ในปัจจุบัน
รายงานระบุว่า EV ในกลุ่มรถยนต์นั่งขนาดกลาง-ใหญ่ ตัวถังซีดาน-เอสยูวี ราคาจะถูกกว่ารถประเภทเดียวกันเครื่องยนต์ ICE ในปี 2526 และ EV กลุ่มรถยนต์นั่งขนาดเล็กจะลงมาตํ่ากว่าในปี 2527
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,681 วันที่ 23 - 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2564