ชาวบ้านเฮ พับแผนระเบิดแก่งแม่น้ำโขง

06 ก.พ. 2563 | 01:32 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ก.พ. 2563 | 08:58 น.

ประชาชนริมโขงเฮ ครม.แจ้งจีนยุติโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง เหตุไม่ได้รับจัดสรรงบประมาณดำเนินการ กลุ่มรักษ์เชียงชี้ สถานการณ์แม่น้ำโขงยังต้องจับตา เหตุลาวเดินหน้าสร้างเขื่อนลำดับห้าแห่งแม่น้ำโขง

 

สำนักข่าวกรีนนิวส์ (Green News) รายงานว่า เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 63 คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงคมนาคมให้ยุติการดำเนินโครงการปรับปรุงร่องน้ำการเดินเรือในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง หรือที่รู้จักกันในชื่อ “โครงการระเบิดแก่งในแม่น้ำโขง” ภายใต้ความตกลงการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง พ.ศ. 2543 

โครงการดังกล่าวเป็นนโยบายของรัฐบาลจีนที่ต้องการระเบิดเกาะแก่งต่างๆในแม่น้ำโขงเพื่ออำนวยความสะดวกให้เรือพาณิชย์ขนาดใหญ่ล่องจากตอนใต้ของจีนไปนครหลวงพระบางในลาว อย่างไรก็ตามโครงการได้รับการคัดค้านอย่างหนักจากประชาชนไทย โดยเฉพาะในอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ตั้งแต่ปีพ.ศ.2543 เพราะเห็นว่าเป็นการทำลายระบบนิเวศและส่งผลกระทบต่อชุมชน จึงร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ รวมถึงรัฐบาล จนกระท่ังรัฐบาลไทยได้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีธันวาคม พ.ศ. 2559 ที่อนุญาตให้จีนที่ได้รับบริษัทสัมปทานสารถดำเนินโครงการ

สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีระบุว่า ที่ผ่านมา ไทยได้ร่วมดำเนินการภายใต้การดำเนินงานเบื้องต้นฯ มาโดยตลอด โดยมีการจ้างเอกชนจัดทำแผนปฏิบัติงานสำรวจและเก็บข้อมูลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม (Environmental and Social Impact Assessment: ESIA) และได้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ นอกจากนี้ ได้เข้าร่วมการประชุมคณะทำงาน 4 ประเทศ (Joint Working Group) เพื่อพิจารณาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการดังกล่าว

อย่างไรก็ดี เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2562 ฝ่ายจีนได้เสนอรายงานผลการศึกษาโครงการ พร้อมแจ้งว่าไม่ได้จัดสรรงบประมาณสำหรับดำเนินโครงการดังกล่าวแล้ว และการดำเนินการต้องสิ้นสุดลงโดยจะมีไม่การดำเนินการใด เว้นแต่จะมีความเห็นชอบร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกผ่านช่องทางการทูต 

สำนักข่าวชายขอบ รายงานว่าฝ่ายความมั่นคงและกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ไม่เห็นด้วยกับโครงการระเบิดแก่งโขง เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อเรื่องเส้นเขตแดน ระหว่างประเทศไทยและสปป.ลาว เพราะโครงการดังกล่าวจะกระทบทางกายภาพต่อร่องน้ำลึกในแม่น้ำซึ่งเป็นส่วนกำหนดเส้นเขตแดนตามอนุสัญญาระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ฉบับลงวันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ.1926 เพื่อแบ่งเขตแดนไทย-ลาว การปักปันเขตแดนยังอยู่ระหว่างขั้นตอนการเจรจาเพื่อสำรวจและปักหลักเขตแดนร่วมกัน ดังนั้นโครงการระเบิดแก่งจึงขัดกับหลักสำรวจเขตแดนที่ระบุไว้ว่าไม่สามารถก่อสร้างในบริเวณที่จะกระทบต่อธรรมชาติของเส้นแบ่งเขตประเทศและในบริเวณ 100 เมตรในแต่ละด้านของสันปันน้ำที่เป็นแนวเส้นเขตแดน

นายจีระศักดิ์ อินทะยศ ผู้ประสานงานกลุ่มรักษ์เชียงของ ให้ความเห็นว่ารู้สึกยินดีกับผลการตัดสินดังกล่าว การยุติโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงสร้างความเป็นธรรมให้แก่ประชาชน เขายืนยันว่ากลุ่มไม่ได้ต่อต้านการพัฒนาเศรษฐกิจและการค้า ทว่าเชื่อว่ามีหนทางอื่นที่เหมาะสมมากกว่า

“นับเป็นข่าวดีของชาวบ้านระดับหนึ่ง เราดีใจ แต่ความไว้วางใจยังต้องใช้เวลา โครงการอาจจะกลับเข้ามาอีก ตอนนี้ควรจะยุติเรื่องระเบิดแก่งนี้ได้แล้ว และมาคุยเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวพันกับแม่น้ำโขง เช่น การก่อสร้างเขื่อน”

นายจีระศักดิ์ แสดงความเห็นต่อโครงการสร้างเขื่อนหลวงพระบาง ซึ่งจะดำเนินการสร้างในปีนี้ เขาชี้ว่ายังไม่เห็นการนำสถานะเมืองมรดกโลกของกรุงหลวงพระบางซึ่งอยู่ห่างออกไปเพียง 25 กิโลเมตรมาเป็นประเด็นในการหารือ ทั้งยังเสริมว่าในฐานะผู้ใช้ชีวิตริมฝั่งแม่น้ำโขง ได้พบเห็นการเปลี่ยนแปลงมากมายในช่วงปีที่ผ่านมา ความหลากหลายทางชีวภาพหายไป และปลาที่จับได้มีจำนวนน้อยลงอย่างเห็นได้ชัดเจนจนราคาสูงขึ้นผิดตา

ทั้งนี้ ในวันที่ 5-6 ก.พ.2563 มีการประชุมปรึกษาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียลุ่มน้ำโขงระดับภูมิภาค ครั้งที่ 9 (9th MRC Regional Stakeholder Forum) ณ กรุงหลวงพระบาง สปป.ลาว โดยวันแรกจะเป็นการหารือเรื่องกระบวนการเตรียมโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนหลวงพระบาง ส่วนวันที่สองเป็นการหารือเรื่องความคืบหน้าการออกแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาลุ่มน้ำโขงปี 2021-2030 (Basin Development Strategy – BDS) และแผนยุทธศาสตร์ปี 2021-2025 

 

ขอบคุณที่มา สำนักข่าวกรีนนิวส์