ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ถูกแชร์ข้อมูลในโซเชียลมีเดีย โดยมีการอ้างจากสถาบันต่างๆ ไล่เรียงตั้งแต่ องค์การอนามัยโลก (WHO) หรือจากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกิ้นส์
แต่ปรากฏว่าข้อมูลที่มีการส่งต่อกันมาในโซเชียลมีเดีย บางส่วนก็เป็นเรื่องจริง แต่มีจำนวนไม่น้อย “เฟคนิวส์” ซึ่งข่าวปลอมนี่เองจะส่งผลเสีย หากผู้ที่ได้รับข้อมูลดังกล่าวนำไปปฏิบัติโดยไม่ได้ตรวจสอบความถูกต้อง
นั่นจึงเป็นที่มาที่ WHO เห็นความสำคัญในเรื่องได้ออกมาชี้แจงข่าวลือ หรือความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับโควิด-19 ในเว็บไซต์ โดยใช้ภาษาที่สื่อสารออกมาเข้าใจง่าย กระชับ ในรูปถาม-ตอบ ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกมากกว่า 2.5 ล้านราย
1.การกินกระเทียมช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้หรือไม่?
ถึงแม้กระเทียมเป็นอาหารเพื่อสุขภาพที่อาจมีสารยับยั้งจุลินทรีย์ แต่ยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่าการกินกระเทียมสามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19
ถ้าเราสามารถกลั้นหายใจได้ไม่ต่ำกว่า 10 วินาทีโดยไม่มีอาการไอ หมายความว่าเราไม่ได้เป็นโรคโควิด-19 ใช่หรือไม่?
คำตอบคือ? ไม่สามารถตรวจสอบการเป็นหรือไม่เป็นโรคโควิด-19 ด้วยวิธีนี้ ซึ่งอาจจะเกิดอันตรายได้ วิธีที่ดีที่สุดในการยืนยันคือการตรวจสอบในห้องปฏิบัติการ
2.การดื่มแอลกอฮอล์ป้องกันเชื้อได้หรือไม่?
การดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้ช่วยป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 และการดื่มอย่างเป็นประจำ หรือเกินขนาด จะทำให้เกิดอันตราย และเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพ
3.การตากแดด หรืออยู่ในที่ซึ่งมีอุณภูมิสูงกว่า 25 องศาเซลเซียส สามารถป้องกันเชื้อได้หรือไม่?
ไม่ว่าจะอยู่กลางแดด หรือในสภาพอากาศที่ร้อน โดยหลายประเทศที่มีอากาศร้อนต่างก็มีการรายงานพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 หากเราต้องการป้องกันการติดเชื้อ จะต้องหมั่นล้างมืออย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสตา ปาก และจมูก
4.การอาบน้ำร้อนสามารถป้องกันเชื้อได้หรือไม่?
ไม่สามารถป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยอุณหภูมิปกติในร่างกายมนุษย์อยู่ที่ 36.5-37.0 องศาเซลเซียส ไม่ว่าอุณหภูมิของน้ำอยู่ที่ระดับใด นอกจากนี้ การอาบน้ำที่ร้อนมากอาจเกิดอันตรายได้
5.สภาพอากาศหนาวเย็นและหิมะได้หรือไม่?
ไม่มีเหตุผลที่ทำให้เชื่อว่าสภาพอากาศหนาวเย็นสามารถฆ่าเชื้อโควิด-19 หรือเชื้อโรคอื่นๆ โดยอุณหภูมิปกติในร่างกายมนุษย์อยู่ที่ 36.5-37.0 องศาเซลเซียส ไม่ว่าสภาพอากาศจะเป็นอย่างไร
6.เชื้อไวรัสสามารถแพร่ทางยุงกัดได้หรือไม่?
ยังไม่มีข้อมูลหรือหลักฐานบ่งชี้ว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถแพร่ผ่านทางยุง โดยเชื้อโควิด-19 เป็นไวรัสทางระบบทางเดินหายใจที่แพร่ผ่านทางละอองฝอยที่เกิดจากการที่ผู้ติดเชื้อไอหรือจาม หรือทางละอองฝอยของน้ำลายหรือน้ำมูกของผู้ติดเชื้อ ดังนั้น เราจึงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่กำลังไอหรือจาม
7.การฉีดพ่นแอลกอฮอล์หรือคลอรีนไปทั่วตัวสามารถฆ่าเชื้อหรือไม่?
การฉีดพ่นแอลกอฮอล์หรือคลอรีนไปทั่วตัวไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 หากเชื้อดังกล่าวได้เข้าไปอยู่ในร่างกายแล้ว นอกจากนี้ การฉีดพ่นสารดังกล่าวจะเป็นอันตรายต่อเยื่อเมือกในตาและปาก ดังนั้น แม้ว่าแอลกอฮอล์และคลอรีนมีประโยชน์ในการฆ่าเชื้อที่อยู่บนพื้นผิว แต่ก็จำเป็นต้องใช้ภายใต้คำแนะนำที่เหมาะสม
8.การใช้น้ำเกลือล้างจมูกเป็นประจำป้องกันการติดเชื้อได้หรือไม่?
ไม่มีหลักฐานที่แสดงว่าการใช้น้ำเกลือล้างจมูกสามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และแม้พอจะมีหลักฐานเล็กน้อยบ่งชี้ว่าการใช้น้ำเกลือล้างจมูกเป็นประจำสามารถทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้นจากอาการหวัด แต่ยังไม่มีการบ่งชี้ว่าการล้างจมูกอย่างเป็นประจำได้ช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19
9.เครื่องเป่ามือมีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อได้หรือไม่?
เครื่องเป่ามือไม่มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยในการป้องกันเชื้อโควิด-19 เราควรหมั่นล้างมือด้วยน้ำยาที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ หรือด้วยสบู่และน้ำ หลังจากนั้นเช็ดมือให้แห้งโดยใช้กระดาษเช็ดมือ หรือไดร์เป่าผม
10.หลอดไฟฆ่าเชื้อรังสีอัลตาไวโอเลท (UV) สามารถฆ่าเชื้อได้หรือไม่?
เราไม่ควรใช้หลอดไฟ UV ในการฆ่าเชื้อที่มือ หรือผิวหนังส่วนอื่น เนื่องจากการแผ่รังสี UV จะทำให้ผิวหนังระคายเคือง
11.เครือข่าย 5G แพร่เชื้อได้หรือไม่?
ไวรัสไม่สามารถเดินทางบนคลื่นวิทยุหรือเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ นอกจากนี้ หลายประเทศที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ไม่มีเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ 5G
12.เครื่องวัดอุณหภูมิมีประสิทธิภาพในการคัดกรองผู้ติดเชื้อไวรัสได้หรือไม่?
เครื่องวัดอุณหภูมิมีประสิทธิภาพในการคัดกรองผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีไข้สูง แต่ไม่สามารถคัดกรองผู้ติดเชื้อที่ยังไม่แสดงอาการและไม่มีไข้ในช่วงฟักตัว 14 วัน
13.วัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบและไข้หวัดได้หรือไม่?
วัคซีน pneumococcal ซึ่งใช้ป้องกันโรคปอดอักเสบ และวัคซีน Haemophilus influenza type B (Hib) ซึ่งใช้ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ไม่สามารถป้องกันโรคโควิด-19 เนื่องจากไวรัสโควิด-19 เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ และมีความแตกต่างจากไวรัสที่ทำให้เกิดโรคปอดอักเสบและไข้หวัดใหญ่ ทำให้จำเป็นต้องมีการคิดค้นวัคซีนสำหรับเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยขณะนี้นักวิจัยกำลังพัฒนาวัคซีนดังกล่าว
14.ยาปฏิชีวนะมีประสิทธิภาพในการป้องกันและรักษาโรคโควิด-19 หรือไม่?
แม้ยาปฏิชีวนะสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรีย แต่จะไม่มีผลในการฆ่าเชื้อไวรัส เนื่องจากเชื้อโควิด-19 เป็นเชื้อไวรัส เราจึงไม่สามารถใช้ยาปฏิชีวนะในการป้องกันและรักษาโรคโควิด-19
อย่างไรก็ดี หากเราได้รับการรักษาตัวในโรงพยาบาลจากการติดเชื้อโควิด-19 แพทย์อาจจ่ายยาปฏิชีวนะ หากเรามีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย
15. ขณะนี้มียาป้องกันและรักษาโรคโควิดหรือไม่?
ยังไม่มียาเฉพาะใดๆที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการในการป้องกันและรักษาโรคโควิด-19 โดยบริษัทหลายแห่งกำลังเร่งทำการทดลองทางคลินิคเพื่อผลิตวัคซีนและยาต้านไวรัสโควิด-19 ในขณะที่ WHO ให้ความช่วยเหลือในการวิจัยและพัฒนาร่วมกับสถาบันหลายแห่ง
16.ไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อคนในวัยใดบ้าง?
คนทุกวัยสามารถติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัวอยู่ก่อนแล้ว เช่น โรคหอบหืด โรคเบาหวาน และโรคหัวใจ มีความเสี่ยงมากกว่าที่จะป่วยหนักจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19
17.หากติดเชื้อโควิดจะสามารถรักษาให้หายขาดหรือไม่?
การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่ได้หมายความว่าไวรัสนี้จะอยู่กับเราตลอดชีวิต หากเรามีอาการไอ มีไข้สูง และหายใจลำบาก ก็ให้รีบไปพบแพทย์ ซึ่งหากได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ผู้ป่วยโควิด-19 ส่วนใหญ่จะมีอาการดีขึ้น และสามารถกำจัดไวรัสออกจากร่างกาย