นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (ศบค.) เผยว่า ว่า ในที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผอ.ศบค.เป็นประธาน มีรองนายกฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง และปลัดกระทรวงต่างๆ เข้าร่วมนั้น โดยผอ.ศบค.ได้มอบแนวทางการทำงานว่า ขอให้ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญในช่วงเปลี่ยนผ่านในเฟสต่างๆ ลดผลกระทบจากโควิด-19 พร้อมขอบคุณทุกกำลังใจที่มีส่วนทำให้เกิดความสำเร็จ
สถานการณ์อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ แต่ยังต้องดำเนินการเชิงรุก เข้มงวดการเข้า-ออกประเทศตามช่องทางต่างๆ ไม่ให้มีการนำเชื้อจากต่างประเทศเข้ามา และยังให้ความสำคัญกับสถานที่กักตัวของรัฐ ขอให้ดำเนินการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด อีกทั้งยังกำชับให้หน่วยงานต่างๆ ห้ามละเลย ต้องไปตรวจสถานที่ที่ได้รับการผ่อนปรนให้เป็นไปตามข้อกำหนด นอกจากนี้ ยังสั่งการให้ ศบค.ติดตามผลกระทบจากมาตรการการผ่อนคลาย แนวทางช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และรับฟังข้อเสนอจากผู้ประกอบการ ผอ.ศบค.ขอให้ศูนย์ช่วยเหลือต่างๆ เก็บตกผู้ตกหล่นทั้งหลายให้เข้าถึงการเยียวยา รวมถึงดูแลเจ้าหน้าที่ที่ต้องทำงานหนักให้ได้รับเบี้ยเลี้ยงตามสิทธิ์
ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้นำเสนอให้คงมาตรการในประเทศให้เข้มข้นและตรึงการนำเข้าเชื้อจากต่างประเทศให้ได้ เพราะจะทำให้มีตัวเลขผู้ติดเชื้ออยู่ที่เลขตัวเดียวและดีขึ้นกว่านี้ไปเรื่อยๆ ซึ่ง ผอ.ศบค.ได้มีข้อชี้แนะให้หามาตรการและแนวทางเฉพาะของกิจการ/ กิจกรรม เช่น รถไฟฟ้าบีทีเอส ที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมากจนเกิดความแออัดในวันนี้ว่า ต้องมีแนวทางแก้ไขหากรถเสีย ขายตั๋วให้เหมาะกับสถานการณ์
พร้อมสั่งให้ 20 กระทรวงประชาสัมพันธ์ภารกิจของตัวเองที่เชื่อมโยงกับ ศบค.ด้วย และที่ประชุมเห็นตรงกันในเรื่องของการเหลื่อมเวลาทำงานของหน่วยราชการ ให้มีการเหลื่อมเวลาหลายช่วง โดยให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ไปดูว่าจะทำให้เหลื่อมเวลามากขึ้นได้หรือไม่ ส่วนการทำงานที่บ้าน ซึ่งเป็นนโยบายของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องให้เกิดขึ้นได้มากที่สุด 50% หรือมากกว่านั้น
เพื่อจะช่วยลดในเรื่องของการเคลื่อนย้ายคน รวมถึงสั่งการให้หน่วยงานราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ รายงานผลทำงานเหลื่อมเวลาและการทำงานที่บ้านเข้ามา ขณะที่สถานศึกษา มีการเตรียมขยายช่วงเวลาของการเปิดเรียนออกไป โดยจะนำเทคโนโลยีมาช่วยในการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า ในที่ประชุม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้พูดถึงไทม์ไลน์ในการผ่อนปรนระยะที่ 2 โดยตารางเวลาคร่าวๆนั้น ในช่วงวันที่ 8-12 พ.ค.จะเป็นช่วงของการรับฟังความคิดเห็น ดูชุดข้อมูล สถิติ สถานการณ์ และความเห็นต่างๆ จากนั้นวันที่ 13 พ.ค.จะมีการซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการ วันที่ 14 พ.ค.จะมีการยกร่างมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2 เสนอนายกฯ ถ้าไม่มีเหตุการณ์อะไร ตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ไม่ทะลุขึ้นแบบผิดปกตินั้น
"ในวันที่ 17 พ.ค.จะเริ่มออกมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2 แต่กว่าจึงวันที่ 17 พ.ค.เราต้องช่วยกัน เพื่อให้อีกสิบวันข้างหน้าเราจะได้เข้าสู่มาตรการระยะที่ 2 จะเป็นการผ่อนปรนกิจการขนาดใหญ่ และกิจการที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต ดังนั้น เมื่อผ่อนปรนระยะที่ 1 แล้วไม่ทำให้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ระยะที่ 2 ต้องเกิดขึ้นแน่นอน จึงต้องทำวันนี้ให้ดี ซึ่งขึ้นอยู่กับทุกคน"
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า อธิบดีกรมควบคุมโรคเสนอเป้าหมายการค้นหาผู้ติดเชื้อในประชากรกลุ่มเสี่ยง โดยตั้งเป้าหมายตรวจให้ได้ 6,000 รายต่อ 1 ล้านประชากร หรือประมาณ 400,000 ราย ขณะนี้ตรวจไปแล้วประมาณ 230,000 ราย เหลืออีก 170,000 ราย โดยจะตรวจในกลุ่มที่มีการขยายเกณฑ์ เช่น มีอาการไข้ มีอาการคล้ายหวัด จมูกไม่ได้กลิ่น 85,000 ราย และอีก 85,000 ราย จะไปหาในประชากรกลุ่มเสี่ยงคือ บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ต้องขังแรกรับ แรงงานผิดกฎหมายที่อยู่ในสถานที่กัก คนขับรถสาธารณะ พนักงานไปรษณีย์ พนักงานขนส่งสินค้า แรงงานต่างด้าว และอาชีพเสี่ยงต่างๆ โดยจะไปสุ่มตัวอย่างกระจายในทั่วประเทศ ทฤษฎีนี้ได้ผลกว่าการตรวจแบบหว่านแห
นอกจากนี้ ในที่ประชุม รมว.ต่างประเทศได้รายงานหลักเกณฑ์การนำคนไทยกลับจากต่างประเทศ กลุ่มแรกคือ กลุ่มด่วนที่สุด จะเป็นกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ คนป่วย คนที่ตกค้างจากสนามบินต่างๆ วีซ่าหมดอายุ นักท่องเที่ยวตกค้าง กลุ่มนี้จะได้กลับมาก่อน กลุ่มที่สอง กลุ่มด่วนมาก คือ พระสงฆ์ที่ไปธุดงค์ นักเรียน นักศึกษา และคนที่ตกงาน
นอกจากนี้นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข เสนอที่ประชุมว่าสถานการณ์การติดเชื้อในหลายประเทศดีขึ้น ควรปรับรายชื่อประเทศที่ถูกประกาศเป็นเขตโรคติดต่ออันตราย เนื่องจากบางประเทศสถานการณ์ดีขึ้นแล้ว เพื่อให้ความสัมพันธ์เชิงเศรษฐกิจ สังคมใกล้ชิดขึ้น โดยนายกฯและที่ประชุมเห็นชอบ แต่จะต้องดำเนินการต่างๆ ให้เป็นไปตามขั้นตอน การเดินทางเข้าประเทศต้องดำเนินตามมาตรการที่ยังเข้มข้นอยู่
"นายกฯยังเพิ่มเติมเรื่องการลงทุนเพื่อศึกษาวัคซีนร่วมกันในกลุ่มอาเซียน เพื่อให้ได้ประโยชน์ร่วมกัน ส่วนเรื่องการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะนักธุรกิจ การกู้ซอฟต์โลน ที่ยังมีปัญหาได้มอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไข ขณะที่เรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ขณะนี้นายกฯได้รับแผนจาก 20 ผู้นำทางเศรษฐกิจของประเทศไทยมาแล้ว เห็นว่ามีโครงการละเอียดในหลายเรื่องที่สามารถลงไปในระดับพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศได้ นายกฯระบุว่าอาจต้องใช้แนวทางต่างๆ เหล่านี้ประกอบกันเพื่อให้เกิดขับเคลื่อนและฟื้นฟูกันได้ "
ต่อคำถามที่ว่า สหรัฐอเมริกาและรัสเซียเริ่มมีการกลับมากิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งที่ยังมีการระบาดสูง หากสองประเทศนั้นมาติดต่อธุรกิจกับไทย จะมีมาตรการอย่างไรนั้น นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ทั้งสองประเทศไม่ได้อยู่ในลิสต์รายชื่อประเทศที่เราประกาศเป็นเขตติดโรคติดต่ออันตรายกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และเรายังไม่ได้เอ่ยถึงการกลับมาทำการค้ากับสองประเทศ แต่กล่าวถึงจีนและเกาหลีใต้ ซึ่งเราประกาศเป็นเขตติดโรคติดต่ออันตรายกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่สาเหตุการติดเชื้อคือการนำเข้ามาจากต่างประเทศ ดังนั้น ถ้าสถานการณ์เขายังไม่ดีพอ ไม่ให้นำเข้ามาแน่นอน
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ในการทำงานของ ศบค.เป็นการทำงานแบบวงกว้าง นำทุกภาคส่วนทั้งฝ่ายประจำ ฝ่ายการเมือง ภาคธุรกิจ ที่มี 20 นักธุรกิจระดับประเทศและโลกมาช่วยกันด้วย รวมถึงคณะที่ปรึกษาด้านนักวิชาการ ซึ่งมีความสำคัญมากมาประกอบกัน เราผ่านตรงนี้มาได้ด้วยทีมไทยแลนด์ ต้องภาคภูมิใจในความเป็นไทยของเรา เรามีคนที่มีความเก่งกล้าสามารถหลากหลาย ทุกคนยังต้องพึ่งพาอาศัยกัน นายกฯยังขอบคุณประชาชนที่ให้ความร่วมมือ เพราะแม้เราจะมีคนเก่งมากมายเพียงใด แต่ความร่วมมือของทุกคนเท่านั้นที่จะเป็นปัจจัยสู่ความสำเร็จสูงสุด