ภาคีเครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก ร้องยกเลิกเรียนออนไลน์ กลุ่มเด็กเล็ก ชี้ต้องได้เล่นอิสระควบคู่การเรียนรู้ รัฐต้องหนุนตามบริบทพื้นที่ ‘หมอยงยุทธ์’ แนะผู้ปกครองทำกิจกรรม 3 แบบจัดตารางเวลาหนีปัญหาเด็กติดจอ ด้านคุณแม่เปิดใจวิกฤตสร้างโอกาสลูกให้บทเรียนเปลี่ยนวิธีคิดปรับโหมดต้องพร้อมส่งเสริมเรียนรู้เพื่อลูก
ขณะที่ผู้ประสานงานเล่นเปลี่ยนโลกเผยเรียนหน้าจอสร้างปัญหาซ้ำซ้อนเด็ก กลุ่มเปราะบาง ผุดไอเดียสนามเด็กเล่นขนาดเล็กในบ้าน – Play@Home เดลิเวอรี่ของเล่น-ตั้งตู้ปันเล่นส่งตรงเด็ก
เครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลกประกอบด้วย มูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน(สสย.) มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา กลุ่ม we are happy องค์กรสารธารณะประโยชน์ และ กลุ่มไม้ขีดไฟ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุภาพ(สสส.) จัดงาน เสวนาออนไลน์ เรื่องปิดเมือง...ต้องไม่ปิดโลกการเรียนรู้ของเด็ก ตอน “ปลดล็อคเด็กเล็กจากเรียนหน้าจอ”
นพ.ยงยุทธ์ วงศ์ภิรมย์ศาสนติ์ ที่ปรึกษาอาวุโสกรมสุขภาพจิต เครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก กล่าวว่า ร.ร.ต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงและให้มีชั่วโมงในชั้นเรียนให้น้อยเพื่อเป็นระบบป้องกันโควิด-19ซึ่งจะเป็นโอกาสให้พ่อแม่ผู้ปกครอง ทบทวนตัวเอง เข้ามารับผิดชอบการศึกษาของลูกแนวโน้มจะเป็นแบบนี้ สถานการณ์โควิดมีผลให้เด็กอยู่บ้านมากขึ้นโดยบทบาทของพ่อแม่มีดังนี้
1. ดึงเด็กให้ไปทำกิจกรรม งานบ้าน งานครัว จะได้เรียนรู้ไปพร้อมกับมีประสบการณ์ติดตัว และความรับผิดชอบเมื่อเขาโตขึ้นและการทำงานบ้านของเด็กผู้ชายจะเป็นการปลูกฝังเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ
2. การเล่นอิสระ เราเปิดพื้นที่ให้เด็กคิดอะไรจากตัวเขา เช่น ปั้น วาดรูป ศิลปะ มีการเคลื่อนไหวแล้วแต่ธรรมชาติเด็กจะสนใจอะไร โดยต้องแบ่งสัดส่วน การจัดเวลาที่ดี จะได้ไม่ปล่อยให้อยู่หน้าจอทั้งวัน ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่ต่ำมาก
3. มีการเสริมสร้างการเรียนรู้เข้าไปทางอ้อม เช่น อ่านหนังสือตามวัยของเด็ก เขียนไดอารี่ เข้าไปในบริบท คิด อ่าน เขียน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มทักษะเรียนรู้ที่ดีขึ้น
“ทั้งนี้กิจกรรมทั้ง 3 ประเภท ให้มีการจัดตารางเวลาเช่น ตั้งแต่บ่าย 3 ถึง 2 ทุ่ม เล่น 3 แบบบรรจุลงไป เล่นอิสระ ช่วยงานบ้าน อ่านหนังสือ ซึ่งมันจะช่วยพัฒนาการต่างๆ ขณะเดียวกันในเรื่องสุขภาพจิต การเล่นเป็นกลุ่มสำคัญ เช่น ในหมู่พี่น้อง เพื่อนบ้าน แต่ในกรณีในเมือง แทบไม่มีแต่ถ้าบ้านไหนมีศักยภาพ มีพื้นที่ ก็ให้มาเล่นรวมกัน ทำกิจกรรม กลุ่มเด็ก กลุ่มครอบครัว ช่วยกันในชุมชนสร้างพัฒนาการด้านสังคม ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นมาก ขณะเดียวกันภายใต้โควิดเด็กได้เรียนรู้ ล้างมือ ใส่หน้ากาก ให้เป็นวิถีชีวิตได้ และควรใช้โอกาสนี้เพิ่มความสามารถของครอบครัว พ่อแม่ ร.ร.แลกเปลี่ยน การเรียนรู้กัน และหาทางออกในเชิงระบบ ไม่ใช่จากการกดดัน สั่งการมาเป็นตัวตั้ง แต่ต้องมาจากพื้นฐานความเข้าใจร่วมกันฝ่าวิกฤต บนหลัก 3 สร้าง 2 ใช้นั้นคือ
1. สร้างความปลอดภัย เว้นระยะห่าง ล้างมือ ใส่แมส
2. สร้างความไม่ตื่นตระหนก รับฟังข้อมูลข่าวสารอย่างมีสติ
3. สร้างความหวัง
และ 2ใช้ คือ 1. ใช้สัมพันธภาพที่มีอยู่ให้เพิ่มขึ้นเพื่อไปลดปัญหา
ด้านประสพสุข โบราณมูล ผู้ประสานงานเครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก กล่าวว่า กลุ่มน่าห่วงคือ เด็กกลุ่มเปราะบาง โดยเฉลี่ยเด็กอยู่หน้าจออย่างน้อย 7 ชั่วโมงต่อวันซึ่งหน้าเป็นห่วงมาก ซึ่งพ่อแม่ไม่รู้เพราะห่วงเรื่องต้องเอาชีวิตให้รอด การทำมาหากินโดยคิดว่าการอยู่หน้าจอจะได้ไม่ติดโรคซึ่งมันเป็นปัญหาซ้อนเข้าไปอีกในปัญหาเดิมของกลุ่มนี้อยู่แล้ว โดยเฉพาะในชนบทที่มีความกังวลมากว่าลูกจะเรียนไม่ทัน ตนเองมองว่า ผู้ใหญ่มุ่งเรื่องการเรียนรู้ที่มาจากความต้องการของผู้ใหญ่เองมากเกินไปหรือเปล่า สำหรับเด็กช่วงปิดเทอมเป็นช่วงเวลาที่มีความสุข ควรได้เล่นอิสระควบคู่ไปกับการเรียนรู้วิถีชีวิตอย่างมีความสุขแบบที่ไม่มีในเรียนในห้องเรียน ถ้าลองคิดถึงวัยเด็กของตนเองก็จะเข้าใจ ยิ่งช่วงวิกฤตของการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรน่าเด็กยิ่งต้องได้เล่นเพื่อปลอดปล่อยและผ่อนคลายความตึงเครียด และเรียนรู้การจัดการกับวิกฤต โดยมีครอบครัว ครู ชุมชน ร่วมกันสนับสนุนและพัฒนากระบวนการการเรียนรู้ และเปิดพื้นที่ส่วนกลางที่ปลอดภัยให้ได้เรียนรู้ได้เล่นโดยออกแบบร่วมกัน ชุมชน รัฐ พ่อแม่ตามบริบทที่เหมาะสมโดยต้องเริ่มต้นทำความเข้าใจกับครอบครัว กลุ่มผู้ปกครองแนวคิดการเล่นที่เป็นธรรมชาติ ซึ่งขณะนี้ทางทีมเล่นเปลี่ยนโลก ส่งเสริมแนวคิดความเข้าใจเรื่องการเล่นอิสระให้กับครอบครัวโดยครู อาสามัครผู้ดูแลการเล่น ให้สามารสร้างมุมเล่น ส่งเสริมการเล่นและเรียนรู้ให้ลูกในบ้าน สร้างสนามเด็กเล่นเล็กในบริเวณบ้านได้ หรือPlay@Home เตรียมเสนอให้สนามเด็กเล่นเล็กๆให้เด็กได้ออกมาเล่นนอกบ้าน รวมทั้งเดลิเวอรี่ของเล่นส่งตรงไปให้ครอบครัว พร้อมทั้งเตรียมทำรถปันเล่น รถพุ่มพวงของเล่น ห้องสมุดของเล่น ตระกร้าหรรษา ลงไปในชุมชนพื้นที่ให้กับเด็กๆ
ขณะที่คุณแม่แวว ชัยอาคม ตัวแทนผู้ปกครองในเมือง กล่าวว่า ในเมืองมีพื้นที่จำกัดไม่เหมือนบ้านในชนบทเด็กจะต้องอยู่แต่ในบ้านและเครียด โดยตนเองได้ปรับแนวคิดเล่นอิสระมาใช้ที่บ้าน เขาได้เล่นตามชอบและส่งเสริม เช่น ชวนลูกเล่นในครัวซึ่งมันสามารถสอนได้ทุกวิชาผ่านการเรียนรู้การทำอาหาร ที่ผ่านมายอมรับว่าก็ไม่ได้ทำแบบนี้กับลูกแต่มีโอกาสที่ได้ทำงานที่บ้านในช่วงโควิดและแม่เปลี่ยนเพราะลูกทำให้เราได้ฉุกคิดเพราะลูกบอกว่าผู้ใหญ่ชอบว่าเด็กดื้อแต่จริงๆแล้วเพราะผู้ใหญ่ไม่มีเวลาให้เด็ก นี่คือความคิดของเด็กที่ทำให้พ่อแม่อย่างเราเปลี่ยนแปลงว่าเราต้องมีความพร้อมเป็นอันดับแรกเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของลูกโดยเฉพาะในช่วงสำคัญนี้
ทั้งนี้กลุ่มเครือข่ายฯ ได้มีข้อเสนอด้านนโยบายโดย
1. ขอเรียกร้องให้คำนึงถึงสิทธิในการเล่นของเด็กเป็นสำคัญตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กข้อ31) เด็กมีสิทธิที่จะมีเวลาพักและเวลาพักผ่อน ขอให้ช่วงปิดเทอม1เดือนเป็นเวลาของความสุขของเด็กที่จะได้เล่นและเรียนรู้ตามธรรมชาติและความต้องการตามวัยเด็ก กลุ่มเด็กปฐมวัยและอนุบาล ขอให้ยกเลิกการเรียนออนไลน์และ DLTV เน้นส่งเสริมการเล่นอิสระ โดยผู้ปกครอง ครอบครัว ออกแบบและจัดการเล่นตามบริบทของวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของท้องถิ่น เด็กประถม เน้นส่งเสริมการเล่น และจัดกระบวนกาเรียนรู้ที่หลากหลาย ที่มีเนื้อหาการสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตตามบริบทของท้องถิ่น หรือวิชาที่เกี่ยวข้องกับทักษะชีวิตทางสังคมของเด็ก และช่วงสถานการณ์โรคระบาดไวรัส
2. ขอให้กระทรวงศึกษาธิการสนับสนุนให้ผู้ปกครอง ครู และชุมชน ออกแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสม ตามบริบทของท้องถิ่น และสามารถทดแทนและหรือใช้เป็นชั่วโมงวิชาเสริมสร้างประสบการณ์ชีวิต สนองนโยบายลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ได้อย่างแท้จริง โดยจัดทำเนื้อหาการ เรียนออนไลน์ สำหรับผู้ปกครองโดยเฉพาะเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กของเด็ก ในเรื่องการเล่น แนวทางการเป็นผู้ดูแลการเล่น (Play worker ) และจัดทำเนื้อหา และรูปแบบกิจกรรม การให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต และการจัดการกับสถานการณ์วิกฤตในช่วงการระบาดของไวรัสโคโรนา ฯลฯสถานการณ์วิกฤติโรคระบาดไวรัสโคโรน่า(COVID-19) ครอบครัว ครู และชุมชน ต้องให้โอกาสเด็กได้เล่น ภาครัฐต้องช่วยออกแบบ หาแนวทางสนับสนุน สร้างการเรียนรู้ดังกล่าวตามบริบทพื้นที่อย่างปลอดภัย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
6 วิธีเตรียมตัว “เปิดเทอม” ให้ปลอดโควิด